เปิดประวัติ "พระเพทราชา" พระเอกหรือผู้ร้าย? "บุพเพสันนิวาส"
ละคร "บุพเพสันนิวาส" นอกจากเรื่องราวในละครจะมีความสนุกสนานน่าติดตามทุกตอนแล้ว ตัวละครสำคัญที่อยู่ในละครเรื่องนี้ ยังมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย ละครได้ผูกเรื่องและดำเนินเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่เราได้เคยเรียนรู้ในชั้นเรียน ให้เข้ากับละครได้อย่างไม่น่าเบื่อ อีกทั้งยังทำให้คนดูอยากรื้อฟื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ช่วงสมัยกรุงศรีฯ ในสมัยนั้นอีกทาง
หนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เป็นบุคคลสำคัญที่กำลังดำเนินเรื่องราวสำคัญในละครตอนนี้อย่าง "พระเพทราชา" รับบทโดย บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์ ก็เป็นหนึ่งบุคคลที่มีพระราชประวัติสำคัญกับแผ่นดินอโยธยา ซึ่งบางคนว่าท่านทรงเป็นผู้ร้ายเพราะเป็นผู้ทำรัฐประหารยึดอำนาจพระนารายณ์ และบ้างก็ว่าทรงเป็นคนดี ขับไล่ต่างชาติออกนอกกรุงศรีฯ กอบกู้บ้านเมืองไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
พระเพทราชา
พระเพทราชา ตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาล ในยุคสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาสมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษ ได้เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 28 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2231-2246 ในรัชสมัยของพระองค์
ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้นๆ
พระเพทราชามีบุตรบุญธรรม นามว่า พระเจ้าเสือ (หลวงสรศักดิ์) ซึ่งก็มีความสำคัญกับราชวงศ์บ้านพลูหลวง ผู้คิดค้นแม่ไม้มวยไทย เป็นคนมีศิลปะการต่อสู้ชั้นยอด ทรงเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเพทราชา มีนามว่า "สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8"
ทั้งนี้ ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาทในการค้าขายเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ที่มีบทบาทในราชวงศ์ของสมเด็จพระนารายณ์นั่นก็คือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) คนๆ นี้เป็นคนที่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรด เนื่องจากเป็นผู้ทำประโยชน์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก
การกระทำของ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สร้างความไม่พอใจให้กับ สมเด็จพระเพทราชา (ดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกลาโหม ณ ขณะนั้น) รวมถึง หลวงสรศักดิ์ เป็นอย่างมากทั้งทางด้านศาสนา ในเรื่องของการบั่นทอนศาสนาพุทธลง โดยการจัดการสึกภิกษุสามเณรให้ลาสิกขาออกมารับราชการโดยไม่สมัครใจ และการค้าที่เอื้อต่อชาวต่างประเทศมากเกินไป แนวความคิดที่ไม่ตรงกันจึงเกิดความแคลงใจอย่างมาก
ในเวลาต่อมา ช่วงที่พระนารายณ์ทรงประชวรอย่างหนัก ทำให้พระเพทราชา เป็นผู้สำเร็จราชการแทนเกิดความแคลงใจ และเกรงว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คิดขบถและจะยึดกรุงศรีอยุธยา เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์จึงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ และทรงเป็นผู้ปลิดชีวิต เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในเวลาต่อมา รวมทั้งประหารผู้ที่จะได้สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระนารายณ์ คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย และพระปีย์
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
ยุคนั้นกลายเป็นยุคที่ตัดขาดจากการค้าขายกับต่างประเทศ และเนรเทศชาวต่างชาติให้กลับประเทศ ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงเป็นอันมากในสมัยนี้ รวมทั้งเป็นยุคที่มีการเกิดกบฏขึ้นหลายครั้ง สมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2246 ขณะครองราชย์ได้ 15 ปี สิริพระชนมายุได้ 71 พรรษา
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.