เปิดประวัติ "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีขนมไทยใน "บุพเพสันนิวาส" จากสูงสุดสู่จุดต่ำสุดในชีวิต

อีกหนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ และกำลังจะโชว์เสน่ห์ปลายจวัก ทำขนมหวานให้คนดูได้ปาดน้ำลายกันเร็วๆ นี้ในละคร "บุพเพสันนิวาส" ก็คือ "ท้าวทองกีบม้า" หรือ "มารี กีมาร์" ที่แม่การะเกดเรียกติดปากว่า "แม่มะลิ" นั่นเอง รับบทโดยนักแสดงสาวลูกครึ่ง ไทย จีน อังกฤษ "ซูซี่-สุษิรา แน่นหนา" ที่ออกมาแต่ละฉาก ก็เผยเสน่ห์ความงามจนต้องมองตาค้างกันเลยทีเดียว

ในละครเรื่องราวชีวิตของ แม่มะลิ หรือ มารี กีมาร์ หลังแต่งงานกับ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ดูจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าไร ให้แฟนๆ ได้เอาใจช่วย โดยภายหลังมรสุมชีวิตของเธอ จะเข้ารับราชการเป็นในห้องเครื่องในราชสำนัก มีชื่อตำแหน่งว่า ท้าวทองกีบม้า สร้างสรรค์ขนมหวานผสมผสานจนได้รับการยกย่องว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"

 

ท้าวทองกีบม้า

มีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) เป็นสุภาพสตรีช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภรรยาของ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า" กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย ด้วยเหตุนี้ท้าวทองกีบม้าจึงได้การยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" 

ขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าทำขึ้น ได้แก่ ทองม้วน, ทองหยิบ,ทองหยอด, ทองพลุ, ทองโปร่ง, ฝอยทอง, กะหรี่ปั๊บ, ขนมหม้อแกง, สังขยา, ขนมผิง, สัมปันนี, ขนมขิง, ขนมไข่เต่า, ลูกชุบ แต่ก็มีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป

ชีวิตสมรส

มารีอา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น เป็นธิดาคนโตของฟานิก กูโยมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว กับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยะมะดะ ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น

มารีอาได้สมรสกับ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นที่นางมีอายุได้ 16 ปี เบื้องต้นบิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย

หลังการสมรส มารีอาก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า

ท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิชเยนทร์ มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) บ้างว่าชื่อควน ฟอลคอน (Juan Phaulkon) แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน

แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เหตุก็เพราะความเจ้าชู้ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับคลาร่า (Clara) นางทาสชาวจีนในอุปการะของเธอ มารีอาจึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง 

ชีวิตตกอับ

แต่ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลงเมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตร หลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน ขณะที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า "[นาง]เศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ" บ้างก็ว่า นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับถ่มน้ำลายรดหน้าสามี และไม่ยอมให้จูบลาลูก มารีอาสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง 

ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต

ท้าวทองกีบม้าต้องตกระกำลำบาก เธอได้เขียนจดหมายเป็นภาษาละตินส่งไปยังบาทหลวงฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงนำความจากจดหมายเข้ากราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้บรรษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสคืนเงินค่าหุ้นของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่ได้ลงทุนไว้ให้คืนให้กับท้าวทองกีบม้า ซึ่งหลักฐานนี้ถูกบันทึกไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1706 (พ.ศ. 2249) ซึ่งเป็นแผ่นในรัชสมัยของพระเจ้าเสือ

จนในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ที่สุด หลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.