ประวัติ พระยาราชนุกูล (ทองคำ) หลานของโกษาปาน บรรพบุรุษต้นรัชกาลที่ 1

หนึ่งในมหาดเล็กสายบู๊ของ ขุนหลวงท้ายสระ ในละคร พรหมลิขิต อย่างตัวละคร พระยาราชนุกูล (ทองคำ) เป็นคนสนิทของขุนหลวง รับบทโดย เพ็ชร ฐกฤต เป็นตัวละครที่มีจริงในประวัติศาสตร์ไทย โดยเป็นหลานชาย โกษาปาน สืบเชื้อสายบรรพบุรุษ ราชวงศ์จักรี และมีศักดิ์เป็นปู่รัชกาลที่ 1 

 

ประวัติ พระยาราชนุกูล (ทองคำ)

พระยาราชนิกูล เดิมมีชื่อว่า ทองคำ เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) ทั้งยังมีศักดิ์เป็นหลานชายแท้ๆของ ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เกิดเมื่อตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ต่อมาเมื่อท่านโตขึ้น เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) บิดาของท่าน ได้นำท่านเข้าถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กใน สมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ต่อมาคือ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ) ดังนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้ให้นายทองคำ ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็น จมื่นมหาสนิท หัวหมื่นมหาดเล็ก ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง เพื่อคอยกะเกณฑ์สิ่งของและทำราชการ

ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการเสด็จประพาสล้อมช้างป่า และเมืองอุทัยธานีเป็นหัวเมืองด่านที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ข้าว ช้างป่า มูลค้างคาว ไม้ ผลกระวาน เป็นต้น สำหรับใช้ในกองทัพ และเป็นยุทธปัจจัยของ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในโอกาสที่ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ต่อไปด้วย ขณะที่จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) อยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ภรรยาได้ให้กำเนิดบุตรชายคนโตคนหนึ่งชื่อ "ทองดี" (ต่อมาคือ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก)

ครั้งเมื่อ พ.ศ. 2251 สมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ขึ้นครองราชย์เป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ" จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) มีความดีความชอบ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระยาราชนกูล (บางแห่งเขียน พระยาราชนิกูล) ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย ดังนั้นครอบครัวนี้จึงได้ย้ายครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ตรงเหนือป้อมเพชร

ส่วนนาย ทองดี บุตรชาย เมื่อมีอายุพอที่จะเข้ารับราชการได้แล้ว พระยาราชนิกูลบิดาก็นำไปรับราชการอยู่ที่กรมมหาดไทย คอยช่วยเหลืองานอยู่กับตน ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในที่สุดก็ได้รับแต่งตั้งเป็น หลวงพินิจอักษร ครั้นอายุได้ 20 ปี หลวงพินิจอักษรก็อุปสมบทและเมื่อลาสิกขาบทแล้ว พระยาราชนิกูล (ทองคำ) ได้สู่ขอ "ดาวเรือง" หลานสาวเจ้าพระยาอภัยราชา (เจ้าคุณประตูจีน) สมุหนายกว่าราชการแผ่นดิน ให้แต่งงานอยู่กินกันตามประเพณี ต่อมาหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ตราต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ และรักษาพระราชลัญจกรอันเป็นตราประจำแผ่นดิน

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.