ประวัติ พระยาโกษาธิบดีจีน ผู้ทรงอิทธิพลของชาวจีนในสมัยอยุธยา
ในละคร พรหมลิขิต มีตัวละครที่น่าสนใจอยู่คนหนึ่ง ที่แต่งกายแปลกประหลาดกว่าชาวบ้านอยุธยาทั่วไป นั่นคือ โกษาธิบดีจีน (นำแสดงโดย ชาย ชาติโยดม) ที่รายงานต่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระว่าการค้าขายกับจีนดูจะไปได้ดี เพราะทางการจีนต้องการสินค้าจากสยามเป็นจำนวนมาก
ในยุคอยุธยา ชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขายและใช้ชีวิตอาศัยอยู่ในสยามมานานแล้ว แต่บทบาททางด้านการค้าขายกับชาวสยามโดดเด่นเป็นพิเศษในช่วง พ.ศ. 2252-2276 หรือช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ที่เป็นเหมือนยุคทองของชาวจีนในสยาม จากอิทธิพลของ โกษาธิบดีจีน
พระยาโกษาธิบดีจีน ในละคร พรหมลิขิต
ประวัติ โกษาธิบดีจีน
ข้อมูลจาก เพจ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ ระบุว่า ตำแหน่ง พระคลัง หรือ โกษาธิบดี รับผิดชอบราชการคลังสินค้า การค้าขาย และการต่างประเทศของราชสำนัก ในสมัยอยุธยาตอนปลายยังได้ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลตะวันออกซึ่งครอบคลุมเมืองท่าทางทะเลทั้งหมดของอาณาจักร และยังสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากราชการได้มาก จึงเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลสูงมาก
ก่อนหน้าที่โกษาธิบดีจีนจะได้รับตำแหน่งพระคลังในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ในรัชกาลของสมเด็จพระเพทราชาเคยมีชาวจีนดำรงตำแหน่ง ออกญาสมบัติบาล (บรรดาศักดิ์เดิมของพระคลังในสมัยนั้น) อยู่ก่อนแล้ว เชื่อว่าเป็นคนของออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสตันซ์ ฟอลคอน) และเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านการคลังของสยามอย่างมาก คอยดูแลด้านการค้าต่างประเทศ และได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระเพทราชาอยู่เสมอ
แต่เมื่อสมเด็จพระเพทราชาประชวรหนัก กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือ) มีพระราชบัณฑูรให้จับกุมออกญาสมบัติบาลและริบบ้านเรือนทรัพย์สิน (ซึ่งมีจำนวนมากเนื่องจากออกญาสมบัติบาลรับผิดชอบผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของแผ่นดิน) เป็นของหลวงทั้งหมด และเมื่อสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต พระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์แทน ทรงปลดออกญาสมบัติบาลจากบรรดาศักดิ์ แล้วทรงแต่งตั้งชาวจีนอีกคนมารับตำแหน่งแทนในบรรดาศักดิ์ พระสมบัติบาล พร้อมทั้งพระราชทานบ้านเรือนและทรัพย์สินของออกญาสมบัติบาลคนเก่าให้ด้วย ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ออกญาสมบัติบาลชาวจีนคนใหม่คนนี้ คือ พระยาโกษาธิบดีจีน ในรัชสมัยของพระเจ้าเสือ และพระเจ้าท้ายสระ
พระยาโกษาธิบดีจีน ผู้ทรงอิทธิพลในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ
พระยาโกษาธิบดีจีน หรือ พระยาโกษาจีน มีข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารว่า เป็นชาวฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) ทางตอนใต้ของจีน ดำรงพระคลังชาวจีนในรัชกาลพระเจ้าเสือ และพระเจ้าท้ายสระ
พระยาโกษาธิบดีจีน มีอิทธิพลสูงมากในราชสำนักของสยาม เป็นผู้อุปถัมภ์ชาวจีนจำนวนมากให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระบบราชการ จนชาวจีนสามารถควบคุมการค้าของสยามไว้ในมือได้
ในช่วงที่พระเจ้าท้ายสระยังมีพระชนมายุน้อย พระองค์ได้มอบราชการงานเมืองส่วนใหญ่ให้พระคลังจัดการ พระยาโกษาธิบดีจีน จึงหาหนทางแต่งตั้งชาวจีนให้ดำรงตำแหน่งราชการที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย ในเวลาชาวจีนจึงควบคุมการค้าทั้งหมดของราชอาณาจักร
เลื่อนตำแหน่งเป็น “เจ้าพระยา”
ในปี พ.ศ. 2260 พระยาโกษาธิบดีจีนได้รับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพเรือไปตีเมืองพุทไธมาศของกัมพูชา พระยาโกษาธิบดีจีนไม่สันทัดในการสงคราม สุดท้ายจึงถูกกองทัพญวน และเขมรตีแตกพ่ายกลับเข้ามา แต่เข้าใจว่าพระยาโกษาธิบดีมีบารมีและเป็นที่โปรดปรานอยู่มาก จึงปรากฏในพงศาวดารว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดให้ลงโทษด้วยการชดใช้อาวุธปืน ลูกกระสุน และดินประสิวเท่านั้น
นอกจากนี้พระยาโกษาธิบดีจีนยังได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยา หลังจากนั้นไม่นาน ดังที่ปรากฏหลักฐานจดหมายที่ส่งไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองปัตตาเวียในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2262 ระบุบรรดาศักดิ์ของตนเองว่า เจ้าพระยาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดีอภัยพิริยบรากรมภาหุ เจ้าพระยาพระคลัง
พระยาโกษาธิบดีจีน ในละคร พรหมลิขิต
นำค้าขายกับต่างชาติ
นอกจากจะสนับสนุนการค้าระหว่างสยามกับจีนแล้ว พระยาโกษาธิบดีจีนยังมีอำนาจและได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบการค้าขายระหว่างสยามกับต่างประเทศด้วย ทั้งการต่อกำปั่นสำหรับบรรทุกช้างไปขายที่อินเดียในปี พ.ศ. 2264 รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของชาวจีนที่ราชสำนักสยามเป็นผู้ว่าจ้างให้เข้าไปทำมาค้าขายที่เมืองท่าญี่ปุ่นที่ตอนนั้นยังปิดประเทศอยู่ และอนุญาตให้ค้าขายกับต่างประเทศได้เพียงบางส่วนได้อีกด้วย การค้าต่างประเทศในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระซึ่งจีนมีบทบาทสำคัญจึงเฟื่องฟูพอสมควร
เปลี่ยนรัชสมัย อิทธิพลจีนในสยามลดลง
เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคตในเดือนมกราคม พ.ศ. 2276 เกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กับฝ่ายของพระมหาอุปราช (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) สุดท้ายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขึ้นครองราชย์ ทรงแต่งตั้งขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ข้าหลวงเดิมเชื้อสายพราหมณ์เทศผู้มีความดีความชอบเป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี ทำให้อำนาจดูแลการค้าต่างประเทศถูกเปลี่ยนมือไปจากชาวจีน การผลัดแผ่นดินครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของชาวจีนในกรุงศรีอยุธยามากพอสมควร
หลังจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ราชสำนักสยามยังคงอาศัยชาวจีนทำการค้ากับเมืองจีนมาอย่างต่อเนื่อง และยังพบว่ามีชาวจีนหรือคนเชื้อสายจีนได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญอยู่ ถึงกระนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงอิทธิพลของชาวจีนในสยามมากเท่าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระอีกเลย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.