รีวิว Mazda CX-3 2.0 Sport Luxe ลากขายมานาน แต่ความ "เก๋า" ไม่รองใคร
รีวิว Mazda CX-3 2.0 Sport Luxe 2024 ใหม่ แม้ว่าความสดใหม่จะเป็นรองคู่แข่ง แต่ครอสโอเวอร์รุ่นเล็กสุดจากมาสด้าคันนี้ยังคง "ความเก๋า" ไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบสมรรถนะการขับขี่เป็นชีวิตจิตใจ มาถึง พ.ศ.นี้ จะยังคงน่าใช้ขนาดไหน Sanook Auto จะชวนคุณไปสัมผัสกับบทความนี้กัน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ได้ฤกษ์เปิดตัวรถครอสโอเวอร์ "CX-3" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย เสริมทัพ Mazda2 ที่กำลังขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซึ่งการมาของ CX-3 ก็สร้างสีสันให้กับตลาด B-SUV ได้พอสมควร เพราะแม้จะมีบอดี้ขนาดกะทัดรัด แต่ก็จัดขุมพลังเบนซิน 2.0 ลิตร SKYACTIV-G และดีเซล 1.5 ลิตร SKYACTIV-D ที่โดดเด่นในเรื่องความแรงและประหยัดน้ำมัน
มาวันนี้ Mazda CX-3 รุ่นปี 2024 คงเหลือไว้เฉพาะเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร SKYACTIV-G เท่านั้น แต่ก็ยังถือว่าแรงจัดจ้านเป็นเบอร์ต้นๆ ของกลุ่ม B-SUV ในปัจจุบัน แถมยังคงไว้ซึ่งเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด SKYACTIV-DRIVE ที่มีความดีงามในเรื่องฟีลลิ่งการเปลี่ยนเกียร์เทียบชั้นรถยุโรปได้สบาย ในขณะที่คู่แข่งต่างหันไปใช้เกียร์ CVT (รวมถึง E-CVT) กันหมดแล้ว
รุ่นย่อยและราคาจำหน่าย Mazda CX-3 2024 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่
รุ่น 2.0 BASE ราคา 777,000 บาท
รุ่น 2.0 BASE PLUS ราคา 830,000 บาท
รุ่น 2.0 COMFORT ราคา 900,000 บาท
รุ่น 2.0 Sport Luxe ราคา 970,000 บาท
ซึ่งแน่นอนว่ารถทดสอบที่เราได้มีโอกาสขับในครั้งนี้เป็นรุ่น 2.0 Sport Luxe ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นท็อปสุดนั่นเอง
ภายนอก
ในเรื่องรูปลักษณ์ของ Mazda CX-3 คงแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะเชื่อว่าหลายคนคุ้นตากันดีอยู่แล้ว แต่ในรุ่น Sport Luxe ใหม่ ได้มีการปรับปรุงโฉมเน้นความหรูหราพรีเมียมมากยิ่งขึ้น ด้วยการตกแต่งซุ้มล้อ กันชนหน้า-หลัง และชายประตู ด้วยวัสดุสีดำเงา เทียบกับรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ที่มีลักษณะเป็นพลาสติกสีดำด้าน เพิ่มความสะดุดตาด้วยล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับบุคลิกของตัวรถ
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานก็จัดให้แบบจุกๆ ไม่น้อยหน้าคู่แข่งที่เพิ่งเปิดตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวัน LED Signature ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ระบบปรับไฟหน้าสูง-ต่ำอัตโนมัติตามน้ำหนักบรรทุก ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ รวมถึงหลังคาซันรูฟเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมแผงบังแดดแบบเลื่อนด้วยมือ หมดกังวลเรื่องความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่แผ่ลงมาเหมือนกับหลังคาพาโนรามิกซันรูฟส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
ภายใน
ห้องโดยสารยังคงเน้นความพรีเมียมหรูหราตามฉบับมาสด้า ซึ่งแม้ว่า CX-3 จะมีอายุอานามในตลาดอยู่พอสมควร แต่ผมกลับมองว่ามันยังคงมอบความพรีเมียมเหนือกว่าคู่แข่งอีกหลายรุ่น และแน่นอนว่าพื้นที่ภายในห้องโดยสารยังคงมีให้อย่างจำกัด โดยเฉพาะห้องโดยสารตอนหลังที่อาจรู้สึกอึดอัดไปบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีรูปร่างใหญ่
คือถ้าถามว่ามันแคบจนนั่งไม่ได้เลยเหรอ ก็ต้องตอบว่าพอนั่งได้อยู่ (ผมเองที่มีความสูง 173 ซม. ก็นั่งเบาะหลังยาวๆ จากเขาใหญ่มายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็หลับเพลินตลอดเส้นทาง) แต่ถ้าต้องใช้เป็นรถครอบครัวคันหลักของบ้าน ด้วยงบเท่านี้ CX-3 ดูเหมือนจะตอบโจทย์ได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร เพราะมันเหมาะสำหรับคนโสดหรือคู่รักใช้งานประจำ 1-2 คนเท่านั้น
ในรุ่น Sport Luxe ถูกติดตั้งเบาะนั่งหุ้มหนัง ตกแต่งด้วยวัสดุ Grand Luxe Suede ที่มีลักษณะคล้ายหนังกลับที่มีผิวสัมผัสค่อนข้างเนียนละเอียดกว่าหนังกลับทั่วไป โดยเบาะผู้ขับขี่สามารถปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมระบบดันหลังไฟฟ้า และเมมโมรี่ 2 ตำแหน่ง ขณะที่เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าจะเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทางทุกรุ่นย่อย ส่วนเบาะหลังสามารถพับแยก 60:40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระขนาดใหญ่ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถปรับเอนพนักพิงได้เลย
บริเวณเหนือแผงคอนโซลยังคงติดตั้งหน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้ว สามารถควบคุมโดยการสัมผัส (เฉพาะเวลาที่รถหยุดนิ่งเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย) หรือผ่านปุ่ม Center Commander ที่ใช้งานได้สะดวกดีโดยเฉพาะเมื่อรถกำลังเคลื่อนที่ โดยหน้าจอนี้ยังสามารถแสดงระบบ Apple CarPlay แบบ Wireless ได้ หรือหากใช้ Android Auto จำเป็นต้องต่อผ่านสาย USB เท่านั้น
บริเวณด้านหน้ามีช่อง USB ให้ 2 ตำแหน่ง โดยใช้เป็นช่องเชื่อมต่อ 1 ตำแหน่ง และช่องจ่ายไฟอีก 1 ตำแหน่ง พร้อมด้วยที่ชาร์จไฟไร้สาย (Wireless Charger) มาให้ด้วย โดยรุ่น Sport Luxe เป็นเพียงรุ่นเดียวที่จะได้ระบบเสียงรอบทิศทาง BOSE พร้อมลำโพง 7 ตำแหน่ง ที่มี Bass Box และ Amplifier 8-channel เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งคุณภาพเสียงถือว่าดีเป็นระดับต้นๆ ของกลุ่ม จนแทบไม่มีความจำเป็นต้องไปอัปเกรดระบบเสียงให้วุ่นวายใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับรุ่น Sport Luxe มีอุปกรณ์มาตรฐานมาให้แบบครบๆ ไม่อายใคร ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อมฟังก์ชัน Auto Hold, ระบบกุญแจ Smart Keyless Entry พร้อมปุ่ม Push Start, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ, ไฟอ่านแผนที่แยกซ้าย-ขวา พร้อมไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารแยกต่างหาก, แผงบังแดดคู่หน้าพร้อมกระจกแต่งหน้า, พวงมาลัยปรับได้ 4 ทิศทาง, เรือนไมล์แบบ Analogue พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ และหน้าจอ Active Driving Display แสดงผลด้วยสีที่ถูกนำกลับมาใส่ใน CX-3 อีกครั้ง
ด้านระบบความปลอดภัยมีการติดตั้ง i-ACTIVSENSE ที่ประกอบไปด้วยฟังก์ชันดังนี้
- Mazda Radar Cruise Control with Stop & Go (MRCC with Stop & Go)
- Advanced Smart City Brake Support (Advanced SCBS)
- Smart Brake Support (SBS)
- Smart City Brake Support-Reverse (SCBS-R)
- Advanced Blind Spot Monitoring (ABSM)
- Rear Cross Traffic Alert (RCTA)
- Lane Departure Warning System (LDWS)
- Driver Attention Alert (DAA)
- High Beam Control (HBC)
ซึ่งการทำงานของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน MRCC with Stop & Go ก็ถือว่าไว้ใจได้ มีเสถียรภาพสูง สามารถตรวจจับรถคันหน้าได้อย่างแม่นยำ มีการรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มและลดความเร็วที่ทำได้ค่อนข้างนุ่มนวล ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ต่างจากรถสัญชาติจีนบางรุ่นที่เมื่อใช้งานจริงกลับรู้สึกไม่ค่อยน่าไว้ใจเท่าไหร่นัก
แต่น่าเสียดายที่ CX-3 ไม่มีระบบช่วยประคองพวงมาลัยให้อยู่ในเลน จะมีก็เพียงระบบเสียงเตือนเมื่อผู้ขับขี่เผลอปล่อยรถออกนอกเลนเท่านั้น
ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ก็มีให้อย่างครบครัน เช่น กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา ที่ให้ความคมชัดในระดับพอใช้งาน, เซ็นเซอร์กะระยะทั้งหน้า-หลัง, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว DSC, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, ระบบช่วยป้องกันรถลื่นไถล TCS, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบสัญญาณไฟกระพริบฉุกเฉินขณะเบรกกะทันหัน ESS, ถุงลมนิรภัยคู่หน้า / ด้านข้าง / ม่านด้านข้าง และจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX เป็นต้น
เครื่องยนต์
Mazda CX-3 2024 ทุกรุ่นย่อยถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 204 นิวตัน-เมตร ที่ 2,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE 6 สปีด พร้อมโหมดแมนนวล Activematic และแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย รองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E85 และมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 16.4 กม./ลิตร
ทุกรุ่นย่อยยังถูกติดตั้งระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะ G-Vectoring Control หรือ GVC, ระบบช่วยประหยัดน้ำมัน i-STOP, ปุ่มเลือกโหมดการขับขี่ Drive Selection และระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
การขับขี่
ในแง่ของการขับขี่ Mazda CX-3 ไมเนอร์เชนจ์ ถือว่าแทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมเลย เพราะทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์, เกียร์ และช่วงล่าง แต่ถึงกระนั้นพละกำลังของเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ที่มีกำลังสูงสุด 156 แรงม้า (PS) ก็ยังคงตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปตามสั่ง ยิ่งกดหนักเท่าไหร่แรงยิ่งมา ไร้อาการ Lag เหมือนกับเครื่องยนต์เทอร์โบ และให้กำลังที่ต่อเนื่องในแบบรถสันดาปแท้ๆ ที่ไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
พละกำลังของเครื่องยนต์ลากยาวต่อเนื่องตั้งแต่ออกสตาร์ทไปจนถึงความเร็ว 120 กม./ชม. จากนั้นจึงค่อยเริ่มรู้สึกว่าแผ่วลงไปบ้าง ซึ่งจุดนี้ถือว่าทำได้น่าประทับใจว่า Yaris Cross HEV ที่พละกำลังจะจัดจ้านในช่วง 0-60 กม./ชม. และจะเริ่มแผ่วลงเมื่อความเร็วเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE 6 สปีด ก็ตอบสนองได้อย่างสนุกสนาน ให้ฟีลลิ่งที่ดีกว่าเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT อย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีการเปลี่ยนเกียร์ที่รวดเร็วและเนียนจนแทบไร้รอยต่อ ถือว่าเป็นเกียร์แบบ Torque Converter ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุดลูกหนึ่งเท่าที่จะหาได้ในรถราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถูกใจคนชอบขับรถอย่างผมเป็นอันมาก พลางคิดว่าหากวันหนึ่งมาสด้าเกิดเปลี่ยนใจไปคบหาเกียร์ CVT เหมือนกับยี่ห้ออื่นแล้วล่ะก็ คงทำให้ใครหลายคนรู้สึกเสียใจไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงผมเองด้วย
ช่วงล่างของ CX-3 เป็นอีกหนึ่งคุณงามความดีที่หาคู่เปรียบได้ยาก เพราะมันสามารถตอบสนองได้อย่างสนุกเร้าใจ ในช่วงความเร็วต่ำ CX-3 สามารถมุดตัวไปตามการจราจรได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว และเมื่อใช้ความเร็วสูง ทั้งพวงมาลัยและช่วงล่างก็สามารถตอบสนองได้อย่างมีชีวิตชีวา รู้สึกเพลิดเพลินไปกับการเข้าโค้ง โดยจะออกแนวแน่นหนึบ มีความติดแข็งนิดๆ ช่วยลดอาการโคลงได้ดี ต่อให้นั่งข้างหลังก็ไม่เวียนหัวเหมือนกับคู่แข่งบางรุ่น
แต่ถึงกระนั้น ปัญหาเดียวที่พบใน CX-3 นอกเหนือจากพื้นที่ห้องโดยสารหลังที่ค่อนข้างคับแคบ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของระบบแอร์ที่รู้สึกว่าไม่เย็นฉ่ำเท่าที่ควร เพราะอากาศเมืองไทยที่ร้อนตลอดทั้งปี คงจะดีกว่านี้หากระบบแอร์สามารถทำให้เย็นฉ่ำทั่วถึงทั้งห้องโดยสาร ไม่ใช่เย็นแบบเอื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่นี้ เพราะต่อให้ปรับอุณหภูมิแอร์ไปที่เย็นสุดแล้วล่ะก็ ยังคงรู้สึกว่ามันเย็นไม่พออยู่ดี
สรุป
แม้ว่า Mazda CX-3 จะถูกลากจำหน่ายมาอย่างยาวนาน แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ยังมีคุณงามความดีในด้านสมรรถนะการขับขี่ที่ยังคงเป็นเบอร์ต้นของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพละกำลังเครื่องยนต์ เกียร์ และช่วงล่างที่ตอบสนองได้ดีในทุกย่านความเร็ว ประกอบกับอุปกรณ์มาตรฐานที่ถูกอัดแน่นไม่แพ้รถที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เอาเป็นว่าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบสมรรถนะการขับขี่เป็นชีวิตจิตใจ ผมว่า Mazda CX-3 ยังคงเป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้ามไปอย่างเด็ดขาดครับ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.