น้ำขวดแถมจากเติมน้ำมัน ดื่มได้หรือไม่?
หลายคนมีความเชื่อว่าน้ำดื่มแบบขวดที่แถมมาจากการเติมน้ำมัน ไม่ควรนำมาดื่มบริโภค เนื่องจากถูกวางทิ้งไว้กลางแสงแดดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้สารเคมีหลุดออกมาเจือปนกับน้ำ เกิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ Sanook Auto จะพาไปไขคำตอบกัน
อ้างอิงจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยออกมาระบุว่า ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบ “สารไดออกซิน” ในน้ำดื่มบรรจุขวดที่วางทิ้งไว้ในรถที่จอดกลางแดด หรือกระทบกับแสงแดด โดยความเชื่อที่ว่าสารไดออกซินจะละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำดื่มเมื่อวางไว้ในที่ที่มีอากาศร้อน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้นั้น เป็นเหมือนเรื่องเล่าที่มีการแผยแพร่ต่อกันมาโดยปราศจากข้อมูลที่แน่ชัด
จากการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการที่มีการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ในวารสารที่มีการพิจารณาตรวจแก้จากผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปได้ว่า ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่างๆ ที่ถูกกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงและสภาวะการแช่แข็ง แล้วทำปฏิกิริยากลายเป็นสารไดออกซินนั้น ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเคยทำการทดลองโดยนำตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิพรอพิลีน (PET) พอลิคาร์บอเนต (PC) และพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ที่จำหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบ สารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง
ดังนั้น การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้ในรถจึงไม่ทำให้ก่อมะเร็งแต่อย่างใด แต่อาจมีกลิ่นที่ผิดเพี้ยนไปจากน้ำดื่มทั่วไปเท่านั้น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.