"ปั๊มติ๊ก" คืออะไร? อายุการใช้งานกี่ปีถึงต้องเปลี่ยน?

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า "ปั๊มติ๊ก" แต่ไม่เคยรู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวคืออะไร แล้วทำไมถึงต้องเรียกปั๊มติ๊ก บทความนี้ Sanook Auto มีสาระความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ว่านี้มาฝากกัน

ปั๊มติ๊ก คืออะไร?

ปั๊มติ๊ก หรือ ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นอุปกรณ์สำคัญในระบบจ่ายเชื้อเพลิงของรถยนต์ มีหน้าที่สูบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากถังน้ำมันไปยังเครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

สาเหตุที่หลายคนเรียกปั๊มเชื้อเพลิงว่าปั๊มติ๊ก เป็นเพราะลักษณะการทำงานของตัวปั๊มที่จะส่งเสียงดังติ๊กเวลาที่บิดกุญแจ แต่ปัจจุบันปั๊มติ๊กนิยมใช้แบบขับด้วยเฟือง และมอเตอร์ไฟฟ้าประกอบเป็นชุดเดียวกันกับชุดลูกลอยวัดระดับน้ำมัน ซึ่งผู้ใช้รถจะไม่ได้ยินเสียงติ๊กที่ว่า แต่ช่างไทยก็ยังคงนิยมเรียกว่าปั๊มติ๊ก เพราะสามารถเข้าใจได้ง่ายนั่นเอง

หากปั๊มติ๊กเสียจะมีอาการอย่างไร?

1. เครื่องยนต์สตาร์ทติดยากหรือไม่ติดเลย - หากปั๊มติ๊กเสีย ก็จะไม่มีน้ำมันส่งไปยังห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ส่งผลให้เครื่องยนต์สตาร์ทไม่ติดนั่นเอง

2. เครื่องยนต์ดับขณะขับขี่ - ปั๊มติ๊กมีโอกาสที่จะเสียขณะขับขี่ได้ ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์ดับกลางอากาศ และอาจทำให้เครื่องยนต์สตาร์ทไม่ติดอีกเลย

3. เครื่องยนต์มีอาการสะดุด - หากปั๊มติ๊กเกิดการเสื่อมสภาพ อาจส่งผลให้มีอาการสะดุดขณะเร่งเครื่อง หรือเครื่องยนต์เดินไม่เรียบได้

ทำไมต้องเปลี่ยนปั๊มติ๊ก?

ปั๊มติ๊กเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานตลอดเวลาขณะเครื่องยนต์ติด จึงมีโอกาสเสื่อมสภาพได้ตามอายุการใช้งาน โดยปัจจัยที่ทำให้ปั๊มติ๊กเสื่อมสภาพ ได้แก่

อายุการใช้งาน - โดยทั่วไปแล้วอายุการใช้งานของปั๊มติ๊กจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 - 150,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 5-7 ปีขึ้นอยู่กับยี่ห้อและรุ่นของรถยนต์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งานและการดูแลรักษาด้วย

ใช้น้ำมันคุณภาพต่ำ - น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสิ่งเจือปนหรือมีคุณภาพต่ำ อาจทำให้ปั๊มติกเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

ปล่อยให้น้ำมันเกลี้ยงถังบ่อย - ปั๊มติ๊กจะอาศัยน้ำมันในถังเป็นตัวระบายความร้อน หากปล่อยให้น้ำมันเกลี้ยงถังบ่อยๆ มีโอกาสสูงที่ปั๊มติ๊กจะไม่สามารถดูดน้ำมันในถังได้ และจะทำให้ปั๊มติ๊กเกิดความร้อนสูงจนเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร

วิธีดูแลรักษาปั๊มติ๊ก

ปั๊มติ๊กเป็นชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นต้องรับการดูแลเหมือนกับชิ้นส่วนอื่นๆ แต่ถึงกระนั้น ผู้ใช้รถสามารถยืดอายุการใช้งานของปั๊มติ๊กได้ ด้วยการเลือกเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการขับรถด้วยน้ำมันเหลือในถังน้อยเกินไป และหากสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าปั๊มติกเสีย ควรรีบนำรถเข้าตรวจเช็คและซ่อมแซมโดยช่างผู้ชำนาญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.