ทำไมรถบางคันถึงรู้สึกเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขับเร็ว
เพื่อนๆ หลายคนเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมรถบางคันขับแค่ 80 กม./ชม. ก็รู้สึกเร็ว แต่บางคันขับเกิน 120 กม./ชม. ก็ยังรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้เร็วอะไรมากมาย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น บทความนี้ Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบกัน
ทำไมรถบางคันขับแล้วถึงรู้สึกเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขับเร็วขนาดนั้น
โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงความเร็วที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ (หากไม่เชื่อก็ลองนึกภาพว่าคุณกำลังยืนสงบนิ่ง แต่โลกที่คุณกำลังยืนอยู่นั้นกลับหมุนด้วยความเร็วมากถึง 1,675 กม./ชม. หรือ 465 เมตรต่อวินาทีดูสิ เห็นไหมล่ะ! คุณไม่รู้สึกถึงความเร็วนั้นเลยแม้แต่น้อย) แต่ร่างกายของคนเราจะพอรับรู้ได้ว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความเร่งหรือแรง G ในขณะนั้น
นั่นหมายความว่ายิ่งร่างกายของคุณต้องเผชิญกับแรง G มากขึ้นเท่าไหร่ ก็พอจะรับรู้ได้ว่ามีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ทีนี้เมื่อพูดถึงแรง G ของรถ เรามักจะนึกถึงรถแข่งหรือซูเปอร์คาร์ที่สามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ได้อย่างรวดเร็วจนหลังติดเบาะ หรือแรงเบรกจากจานเบรกคาร์บอนเซรามิกและคาลิเปอร์แบบ 4-pot ที่สามารถหยุดรถจากความเร็วสูงได้ชนิดที่คอแทบเคล็ด
แต่ในความเป็นจริงนั้นการเคลื่อนที่ของรถยนต์จะเกิดความเร่งแบบยิบย่อย หรือ Micro-acceleration ตลอดเวลาโดยที่ผู้โดยสารแทบไม่รู้ตัว ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพถนนที่ไม่เรียบ การขับผ่านลูกระนาด หรือแม้กระทั่งขับอยู่บนถนนที่ดูเหมือนจะเรียบ แต่ร่างกายก็ต้องเผชิญกับแรงสั่นเบาๆ ไปยังทิศทางต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดการรับรู้ว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากหรือน้อยแตกต่างกันไป
คราวนี้มาพูดถึงรถยนต์กันดูบ้าง เพราะรถแต่ละรุ่นและยี่ห้อต่างก็ถูกออกแบบให้มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทั้งความยาว ความกว้าง ความสูง ระยะฐานล้อ ระบบช่วงล่าง การซับแรงสะเทือน การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร และอื่นๆ อีกมากมาย นำไปสู่สิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์มักกล่าวถึงบ่อยๆ เรียกว่า NVH หรือ Noise Vibration และ Harshness ซึ่งแปลตรงตัวก็คือ เสียงรบกวน, แรงสั่น และแรงสะเทือน นั่นเอง
รถไซซ์เล็กกลุ่ม B-segment ทั้งหลายถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด ฐานล้อสั้น ช่วงล่างแข็ง เมื่อขับขี่บนถนนก็จะสร้าง Micro-acceleration ได้มากกว่า ทำให้ร่างกายรู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วจริง ขณะที่รถกลุ่ม D-segment หรือ D-SUV ที่มีขนาดใหญ่นั้น ถูกออกแบบให้มีฐานล้อยาว ช่วงล่างนุ่มนวล ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกถึง Micro-acceleration ได้น้อยกว่า ทำให้รู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่ไม่เร็วนัก แม้ว่าจะใช้ความเร็วสูงอยู่ก็ตาม
นอกจากนี้ เสียงที่เล็ดลอดจากภายนอกเข้ามายังห้องโดยสาร ยังส่งผลต่อความรู้สึกของคนที่อยู่ภายในรถได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงของเครื่องยนต์ หรือเสียงยางบดถนน ยิ่งเสียงเหล่านี้ดังมากเท่าไหร่ ผู้โดยสารจะยิ่งรู้สึกว่ารถมีความเร็วสูงขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามหากรถสามารถเก็บเสียงได้ดี ไร้เสียงรบกวนจากภายนอก ผู้โดยสารภายในรถก็จะรู้สึกสงบ ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมภายนอกรถ เป็นส่วนช่วยที่ทำให้รู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่ช้ากว่าความเป็นจริงนั่นเอง
ดังนั้น หากสรุปง่ายๆ นั่นก็คือ รถขนาดเล็กที่มีฐานล้อสั้นและช่วงล่างแข็ง จะทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่เร็วกว่าความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างความรู้สึกสนุกในการขับขี่ ในทางตรงกันข้ามรถที่มีขนาดใหญ่ ฐานล้อยาว ช่วงล่างนุ่มนวล จะส่งผลให้การรับรู้แรง G น้อยกว่า ก็จะช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้ดีกว่านั่นเอง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.