"โตโยต้า" ยืนยันตลาดไฮบริดยังเติบโต จ่อขายกระบะไฟฟ้าปลายปี 2568

โตโยต้า ประเทศไทย ยันตลาดรถไฮบริดยังคงเติบโต ไม่หวั่นแม้ BEV ตลาดจีนมาแรง พร้อมเปิดเผยว่าบริษัทมีแผนเปิดตัวกระบะไฟฟ้า "ไฮลักซ์ BEV" ภายในปี 2568 ที่จะถึงนี้ พร้อมกับการพิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ รวมถึงไฮบริดและไนโตรเจน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดย มร.โนริกาอิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยนายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายณัทธร ศรีนิเวศน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ภายในงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ 2024 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

มร.โนริกาอิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

ผลดำเนินงานของโตโยต้า และตลาดโดยรวมในปีที่ผ่านมา ตลอดจนภาพรวมของตลาดรถยนต์ในปีนี้

ยอดขายของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 770,000 คัน ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ช่วงครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยประสบภาวะค่อนข้างลําบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากดัชนีทางด้านเศรษฐกิจ ยังไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้อุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศไม่ค่อยเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถปิกอัพ ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มมาตรการในการปล่อยกู้ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ตลอดจน ภาวะหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลัง ทําให้ยอดขายรถปิกอัพในปีที่ผ่านมาลดลงกว่า 30%

ในปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของปิกอัพของโตโยต้า อยู่ที่กว่า 40% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2011 และมีส่วนแบ่งตลาดรวม อยู่ที่ 34.3% ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนการตลาดที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015

สําหรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปีนี้ เราเคยคาดการณ์ไว้ว่า ยอดขายรวมทั้งปีน่าจะดีกว่าในปีที่ผ่านมา ที่ระดับ 780,000 ถึง 800,000 คัน แต่เนื่องจากดัชนีของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ไม่สู้ดีนัก ตลอดจนการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการการปล่อยกู้และปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งเห็นว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อฟื้นตัว จึงขอปรับลดประมาณการณ์ยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 730,000 คัน

ยอดจองของ Yaris Cross, Corolla Cross และ Hilux Champ เป็นอย่างไรบ้าง?

สำหรับโคโรลล่า ครอสใหม่ ที่เพิ่งเปิดรับจองเพียง 1 เดือน เราได้รับยอดจองมากกว่า 3,000 คัน ในส่วนของยาริส ครอส นับตั้งแต่เปิดตัวมา 5 เดือน มียอดจองสะสมรวมทั้งสิ้นกว่า 25,000 คัน หรือเดือนละประมาณ 5,000 คัน ซึ่งก็ถือว่าทำยอดขายได้ดี

ด้านไฮลักซ์แชมป์ ที่เปิดจองมา 3 เดือน ได้ยอดจองกว่า 5,000 คัน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

ผลกระทบจากสงครามราคา และมาตรการในการรับมือเป็นอย่างไรบ้าง?

หากเราทําการแข่งขันด้านราคากันรุนแรงเกินไป ก็จะส่งผลต่อราคาขายต่อของรถยนต์โดยรวม ทั้งส่งผลต่อความรู้สึกของลูกค้าที่เพิ่งซื้อรถรุ่นนั้นไปด้วย เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างระมัดระวัง สําหรับโตโยต้าเอง เราให้ความสำคัญกับ Value Chain ซึ่งก็คือคุณค่าตลอดห่วงโซ่การใช้งานของรถยนต์ของเรา โดยไม่ว่าลูกค้าจะซื้อรถโตโยต้าไปเมื่อใด เราก็มุ่งสร้างความสุข และรอยยิ้มให้ลูกค้าของเราทุกคน

ในปีนี้ โตโยต้าก็มีการแนะนำแคมเปญและข้อเสนอเพื่อกระตุ้นยอดขายต่าง ๆ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งเราจะพิจารณากลยุทธ์ระยะกลางกับระยะยาวอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาถึงลูกค้าเป็นสำคัญ

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

ความคิดเห็นต่อการเปิดตัวรถ BEV รุ่นใหม่ และส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตสัญชาติจีนที่กำลังเพิ่มขึ้น ตลอดจนความกังวลใจของโตโยต้า

กลยุทธ์ Multi-pathway ของโตโยต้า คือการมุ่งนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้รถที่ตรงกับความต้องการของตนองมากที่สุด โดย Multi-pathway เป็นนโยบายของโตโยต้าทั่วโลก ซึ่งเราจะดูลักษณะจําเพาะของแต่ละประเทศและแต่ละตลาด ตลอดจึงความเป็นไปได้ในอนาคต แล้วจึงนําเสนอทางเลือกที่เหมาะสมให้ได้มากที่สุด

แน่นอนว่ารถ BEV ก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสําคัญมากสำหรับอนาคต ซึ่งเราจะนิ่งเฉยไม่ได้ แต่ในส่วนของรถ BEV ในการใช้งานจริงขึ้นอยู่กับสาธารณูปโภค ก็คือสถานีชาร์จ ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้จริงหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือความประหยัดโดยรวมสําหรับลูกค้า หากลูกค้าชาร์จ ในช่วงกลางดึกซึ่งค่าไฟต่ำได้ ก็อาจจะประหยัดสําหรับลูกค้าคนนั้น แต่ถ้าไม่สามารถทําได้ ก็อาจจะไม่ได้ประหยัดจริง รวมถึงเมื่อพิจารณาราคาขายต่อ ตลอดจน ความประหยัดในระยะยาว ก็อาจ แตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งก็ต้องคํานึงถึงปัจจัยที่หลากหลายนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โตโยต้าก็น้อมรับนโยบายของประเทศไทยที่อยากจะมีสัดส่วนการใช้รถ BEV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 โดยจะขยายเทคโนโลยีการผลิตแบบ Step-by-step เรามีแผนที่เป็นรูปธรรมในระยะสั้น คือ แผนผลิตรถไฮลักซ์ BEV ที่พร้อมจะส่งมอบให้เทศบาลเมืองพัทยา เพื่อใช้เป็นรถสองแถวแบบทดสอบ 12 คันในวันที่ 25 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยจะมีพิธีส่งมอบกันที่พัทยา

นอกจากนี้ เรายังมีแผนทําการผลิตรถไฮลักซ์ BEV แบบ mass production ภายในปลายปี 2025 และหลังจากนี้เป็นต้นไป ทางโตโยต้าก็จะทําการพิจารณาผลิตรถ BEV ที่เป็นรถยนต์โดยสารทั่วไปในประเทศไทยในอนาคต

รถต้นแบบ Toyota Hilux BEV

ความนิยมของรถ BEV หรือรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ในหลายตลาดทั่วโลกค่อนข้างจะลดลงเมื่อเทียบกับรถไฮบริด คิดว่าประเทศไทยจะมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันหรือไม่?

เมื่อปีที่แล้ว รถ BEV ได้รับความนิยมสูง และมีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยมีปัจจัยสำคัญ คือสิทธิประโยชน์ ที่โดยรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นนโยบายสิทธิประโยชน์สําหรับรถที่นําเข้า 100% ที่จะสิ้นสุดในปี 2025 ส่วนสำหรับรถที่มาประกอบหรือผลิตในประเทศไทยจะสิ้นสุดในปี 2027

แต่เหตุผลที่ในหลายประเทศ ความนิยมของรถ BEV ลดลงก็เป็นเพราะเทคโนโลยียังก้าวล้ำไปไม่ทันกับความคาดหวังและความต้องการใช้งานจริงของผู้คน โดย ความสามารถใช้งานรถได้จริงกับความประหยัดเป็นปัจจัยที่สําคัญมาก

สำหรับความประหยัดคุ้มค่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนต่างพากันลดราคา เพื่อแข่งขันอย่างดุเดือด แต่ว่าในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายที่ว่าจะเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดจริง ๆ ในระยะยาวหรือเปล่าก็เป็นเรื่องที่จําเป็นจะต้องดูกันต่อไปอย่างไรก็ตาม การที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนดําเนินการเรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

ทั้งนี้ โตโยต้าก็ยังมุ่งสร้างสรรค์ทางเลือกที่ดีที่สุดสําหรับลูกค้าในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการใช้งานได้จริง ความประหยัด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างแท้จริง

รถต้นแบบ Toyota Hilux HEV (ไฮบริด)

อนาคตการทำตลาด "ไฮลักซ์ BEV" ในประเทศไทยเป็นอย่างไร?

อย่างที่ทุกคนทราบว่า รถปิกอัพเป็นรถที่มีสัดส่วนยอดขาย 40 ถึง 50% ของยอดขายรวม และมีการนําไปใช้งานกันจริง ตลอดจนมีความสําคัญของเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก แต่หากพิจารณาสองปัจจัยด้านภาระของสิ่งแวดล้อม อาจเป็นเรื่องยากที่จะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เราจําเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกสำคัญของภูมิภาคนี้

ด้านประหยัดคุ้มค่าและการใช้งานจริง ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งปัจจุบัน เราจะไม่พร้อมที่จะผลิตแบบ mass production ได้โดยทันที โดยเราจะจําหน่ายภายในสิ้นปี 2025 พร้อมกับพิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงไฮบริดละพลังงานไฮโดรเจนด้วย

ส่วนเรื่องที่ว่ารถปิกอัพ BEV จะจำหน่ายได้หรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่สำหรับคุณค่าที่รถประเภทนี้จะให้กับตัวลูกค้าได้ ไม่ว่าจะในส่วนของการใช้งานจริงหรือการประหยัดจริง ก็เป็นเรื่องที่จําเป็นต้องพิสูจน์กันต่อไป การจะแนะนำรถปิกอัพ BEV ให้ได้สำเร็จ จำเป็นจะต้องให้ลูกค้าพิสูจน์ก่อนว่า เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันแล้ว มีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้าง

รถปิกอัพเป็นรถมหาชนของประเทศไทย เป็นรถที่อยู่ในใจของผู้คน และเป็นรถที่คนไทยใช้ทํามาหากิน เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาว่า จะทําอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์รถกระบะ BEVที่ใช้งาน และลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยสนับสนุนประเทศไทยได้จริง 


Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.