อย่าหาทำ! "ถอดแคตแลกท่อซิ่ง" ได้ไม่คุ้มเสียเพราะมูลค่ากลับยิ่งกว่าทอง
ท่ามกลางความนิยมของคนไทย "บางกลุ่ม" ที่ชอบแต่งรถกระบะแบบผิดกฎหมาย คอยพ่นควันดำปี๋สร้างความเดือดร้อนไปทั่วนั้น ก็มีธุรกิจการรับซื้อ "ท่อแคต" เกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอันใดหาก "ท่อแคต" เหล่านี้เสื่อมสภาพจนไม่อาจนำมาใช้งานได้ หรือถูกถอดมาจากรถที่แจ้งยกเลิกการใช้งานและไม่นำมาวิ่งบนท้องถนนอีกต่อไป
ท่อแคต คืออะไร?
"ท่อแคต" หรือ "คาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์" (Catalytic Converter) มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า "เครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา" เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในระบบท่อไอเสียสำหรับกำจัดและลดปริมาณมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ก่อนจะถูกปล่อยออกสู่อากาศภายนอกที่เราใช้สูดหายใจกันอยู่ทั่วไป
ด้านในของท่อแคตจะประกอบไปด้วยกลุ่มโลหะมีค่า (Precious Metal) ที่มีมูลค่าสูงและหาได้ยาก เช่น ทองคำขาว (Platinum) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเชิงเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ที่ดีที่สุดและถูกนำมาใช้เป็นวงกว้างในการกำจัดมลพิษที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมไปถึงแพลเลเดียม (Palladium) และโรเดียม (Rhodium) ก็ถือเป็นโลหะมีค่าที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน
วัตถุดิบราคายิ่งกว่าทอง
ใครจะเชื่อว่าโลหะที่ใช้กำจัดมลพิษเหล่านี้กลับมีค่าดั่งทอง แถมบางตัวมีค่ามากกว่าทองด้วยซ้ำไป หากอ้างอิงตามเว็บไวต์ Goldandsilver.org จะพบว่าราคาทองคำปัจจุบัน (20 พ.ค.) ป้วนเปี้ยนอยู่ประมาณ 1,874 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ หรือคิดเป็นตัวเลขกลมๆ อยู่ที่ราว 59,000 บาท
ส่วนทองคำขาว (Platinum) ที่ถูกใช้เป็นโลหะกำจัดควันพิษก็มีมูลค่าสูงถึง 1,216 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ หรือประมาณ 38,000 บาททีเดียว ขณะที่แพลเลเดียม (Palladium) ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีราคาสูงเสียดฟ้ายิ่งกว่าทองอยู่ที่ 2,917 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ หรือคิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 91,500 บาท
ด้วยมูลค่าวัตถุดิบมหาศาลเหล่านี้ การกำจัด Catalytic Converter ที่หมดอายุแล้ว จึงต้องมีการสกัดนำเอาโลหะมีค่าเหล่านี้ออกมาเสียก่อนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่าการนำของที่มีมูลค่าขนาดนี้ ไปแลกกับท่อไอเสียราคาไม่กี่พันบาทมันคุ้มกันไหม? นั่นยังไม่นับรวมคนบางกลุ่มที่จู่ๆ ดันเกิดขัดสนเงินทอง ก็รีบพุ่งตัวไปหาพ่อค้าเหล่านี้เพื่อแลกท่อแคตมาเป็นเงินสดแทน ทั้งๆ ที่จะเพิ่งถอยรถป้ายแดงออกมาสดๆ ร้อนๆ ก็ตาม
อยากแรงต้องถอดแคต?
ปัจจุบันมีนักซิ่งกระบะจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้บริการ "ถอดแคตแลกท่อซิ่ง" ที่หาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัสบนหน้าจอมือถือ ด้วยความเชื่อที่ว่าการถอดแคตออกจะทำให้รถวิ่งดีขึ้น แรงขึ้น แถมยังได้ท่อแต่งเสียงดังกระหึ่มมาทั้งเส้นฟรีๆ โดยไม่ต้องเงินสักบาท
จริงอยู่ที่การถอดแคตออกนั้น หากว่ากันตามทฤษฎีจะทำให้รถแรงขึ้นได้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากเครื่องยนต์สามารถระบายไอเสียได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ตามมาชัดเจน คือ รถเหม็นควันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมลพิษถูกออกจากปลายท่อไอเสียแบบเต็มๆ ทั้งสารประกอบไฮโดรคาร์บอน, คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตร่วมโลก แถมยังซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบไร้ซึ่งเยื่อใยใดๆ ทั้งสิ้น
และหากว่ากันตามจริง รถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันก็มีพละกำลังในระดับที่ "เกินพอ" สำหรับการใช้งานเพื่อ "ทำมาหากินปกติ" ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ด้วยแรงบิดจากโรงงานต่ำๆ ก็เกือบ 400 นิวตัน-เมตรแทบจะทุกยี่ห้อ ดังนั้นการปรับจูนเครื่องยนต์ให้แรงขึ้นด้วยวิธีที่ไร้ความรับผิดชอบเช่นนี้ แลกกับความเท่ในสายตาของคนบางกลุ่มที่มีความคิดใกล้เคียงกันจึงไม่ควรเกิดขึ้นเลย เพราะมันยังถูกต่อยอดไปถึงพฤติกรรมการขับรถแบบไร้วินัย ไม่คำนึงถึงกฎจราจร และการกระทำผิดกฎหมายมากมายอีกนับไม่ถ้วน
สรุปแล้วถอดแคตผิดกฎหมายหรือไม่?
ในด้านกฎหมายนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ระบุถึงความผิดในด้านการถอดอุปกรณ์คาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ออกโดยตรง แต่ พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ก็กำหนดไว้ว่าจะรถทุกคันที่ปล่อยไอเสียได้นั้น จะต้องมีระบบไอเสียติดตั้งไว้เสมอ จึงอาจเข้าข่ายความผิดข้อหาอุปกรณ์ส่วนควบไม่สมบูรณ์หรือติดตั้งผิดกฎหมาย เนื่องจากคาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ผลิตรถยนต์ถูกบังคับให้ติดตั้งเข้ากับรถทุกคันจากโรงงานอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปใช้ท่อซิ่ง อาจก่อให้เกิดเสียงดังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีมลพิษพุ่งเกินค่ามาตรฐาน จนไม่อาจการผ่านการตรวจสภาพเพื่อต่อภาษีประจำปีได้
แต่ในเมื่อคนบางกลุ่มยังคิดถึงความเท่มากกว่าความถูกต้อง ประกอบกับผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถกวดขันวินัยได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น "คนส่วนใหญ่" คงต้องก้มหน้ารับ "ผลทางอ้อม" จากการกระทำของคนเหล่านี้ต่อไปอีกนานแสนนาน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.