ทดลองขับ Honda e:N1 รถไฟฟ้า 100% ทางเลือกควรค่าแก่การรอคอย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยพุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่ชูจุดขายด้านเทคโนโลยีและราคาจำหน่ายที่เข้าถึงได้ง่าย กระตุ้นให้ค่ายรถยนต์ต่างก็ต้องปรับตัวส่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ Honda ก็เป็นค่ายรถยนต์เก่าแก่สัญชาติญี่ปุ่นที่หวังจะลงมาเดินเกม BEV ทั้งในตลาดโลกและตลาดประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการทำให้แผนการเปิดตัวรถไฟฟ้าตระกูล e:N ในประเทศไทยที่เคยมีข่าวว่าจะได้สัมผัสกันช่วงปลายปี 2566 นี้ ต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

แต่ถึงกระนั้นก็เป็นโอกาสอันดีที่ Sanook Auto ได้ไปลองสัมผัส "Honda e:N1" ก่อนใครถึงประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะมาบอกเล่าคุณผู้อ่านว่าทำไมรถคันนี้ถึงควรค่าอย่างยิ่งแห่งการ "รอ"

Honda e:N1 พื้นฐานโครงสร้างเดียวกับ HR-V

Honda e:N1 (หรือ Honda e:Ny1 ตามการเรียกของตลาดยุโรป) ถูกพัฒนาขึ้นบนแพล็ตฟอร์ม e:N Architecture F ที่ออกแบบมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ พร้อมด้วยโครงสร้างตัวถังที่ถอดแบบมาจาก HR-V รุ่นปัจจุบัน จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นรถ B-SUV ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% ที่มีคู่แข่งในระดับเดียวกันอย่าง Toyota bZ4X, Volkswagen ID.4 และ Peugeot e-2008 เป็นต้น

หากอ้างอิงจากเวอร์ชันที่วางขายในสหราชอาณาจักรพบว่า Honda e:N1 ถูกติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS) ขับเคลื่อนล้อหน้า ที่สามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลา 7.6 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กม./ชม.

ส่วนแบตเตอรี่มีความจุอยู่ที่ 68.8 kWh ติดตั้งไว้ใต้ท้องรถ สามารถขับเคลื่อนได้เป็นระยะทางสูงสุดราว 412 กิโลเมตร หรือ 256 ไมล์เมื่อชาร์จจนเต็ม (ตามมาตรฐานการทดสอบ WLTP) และรองรับการชาร์จด่วนจาก 10-80% ได้ในเวลาราว 45 นาที หรือชาร์จเพียง 11 นาที ก็เพียงพอต่อการขับขี่ต่อไปได้ 100 กิโลเมตร

ดีไซน์แตกต่างจาก HR-V อยู่พอสมควร

แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของ e:N1 จะเหมือนกับ HR-V ราวกับฝาแฝด แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แตกต่างกันออกไป เริ่มต้นด้วยกระจังหน้าที่ถูกเปลี่ยนเป็นช่องชาร์จไฟ พร้อมกันชนหน้าที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด

ส่วนด้านท้ายมีจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การใช้ตัวอักษร "HONDA" แทนการใช้สัญลักษณ์ H-Mark ซึ่งจะพบได้ในตระกูลรถยนต์ไฟฟ้าของฮอนด้า ตบท้ายด้วยล้ออัลลอยดีไซน์เฉพาะตัว

ภายในห้องโดยสารถูกยกเครื่องใหม่แทบทั้งหมด โดยคันพวงมาลัยขวาที่ปรากฏในภาพเป็นเวอร์ชันที่วางจำหน่ายในสหราชอาณาจักร (ภายใต้ชื่อ e:Ny1) ติดตั้งหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบดิจิทัลขนาด 10.25 นิ้ว พร้อมอินเตอร์เฟสเฉพาะตัวสำหรับขุมพลังขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

ส่วนหน้าจออินโฟเทนเมนท์กลางขนาด 15.1 นิ้ว ถูกวางตัวในแนวตั้ง แบ่งการแสดงผลไว้อย่างชัดเจนตามลำดับความสำคัญในการใช้งาน ด้านบนจะไว้สำหรับระบบแผนที่นำทางและระบบเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ตรงกลางไว้สำหรับการตั้งค่าตัวรถและแสดงสถานะต่างๆ ขณะที่ส่วนล่างของหน้าจอจะใช้สำหรับระบบปรับอากาศเท่านั้น จึงไม่ต้องสลับเมนูไปมาให้วุ่นวายเหมือนกับรถบางยี่ห้อ ซึ่งนี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการออกแบบ User Interface ที่คำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ

อีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือการวางแบตเตอรี่ไว้ใต้ท้องรถ แม้ว่าจะทำให้ระยะความสูงจากพื้นถนนลดลง แต่ข้อดีคือไม่กระทบกับพื้นที่ภายในห้องโดยสาร เพราะไม่ว่าจะนั่งอยู่ตำแหน่งใดของตัวรถ ก็ยังคงมีพื้นที่วางขาไม่แตกต่างไปจาก HR-V รุ่นปกติเลย

การขับขี่เนียนกริบอย่างที่คาดหวัง

แน่นอนว่าเมื่อแบรนด์รถยนต์เก่าแก่สัญชาติญี่ปุ่นอย่างฮอนด้า เมื่อพวกเขาคิดจะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าสักหนึ่งคัน หัวใจหลักคือรถคันนั้นจะต้องคงไว้ซึ่งคาแร็กเตอร์ตามฉบับฮอนด้าอย่างครบถ้วน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสะท้อนออกมาผ่าน e:N1 คันนี้ได้เป็นอย่างดี

Sanook Auto ได้มีโอกาสทดลองขับ Honda e:N1 บนสนาม Honda R&D Proving Ground ในจังหวัด Tochigi ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าภายนอกมันจะดูคล้ายกับ HR-V ที่คนไทยคุ้นเคยดี แต่เมื่อได้เข้าไปนั่งอยู่ภายในรถจริงๆ แล้วนั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่ามันคือรถอีกรุ่นที่แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง

โดยปกติแล้วรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น (โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้โครงสร้างเดียวกับรถสันดาป) จะรู้สึกได้ถึงความหนักของแบตเตอรี่ที่เพิ่มเข้ามา แต่ Honda e:N1 กลับไม่รู้สึกเช่นนั้น เพราะทันทีที่กดคันเร่ง ตัวรถก็ค่อยๆ พุ่งทะยานไปข้างหน้าตามน้ำหนักเท้าขวาได้เป็นอย่างดี แทบไม่รู้สึกถึงความหน่วงหรือความหนักที่เพิ่มขึ้นมาเลย

การขับทดสอบในครั้งนี้เป็นการขับบนสนามที่มีการจำกัดความเร็วค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งเราใช้ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 50 กม./ชม. เท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอที่จะให้รับรู้ว่าจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลงจากการติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ใต้ท้องรถ ทำให้การเข้าโค้งเป็นไปอย่างเนียนกริบ ไม่มีอาการยวบยาบน่ารำคาญให้เห็น เมื่อรวมกับพวงมาลัยที่มีน้ำหนักเบาและแม่นยำ ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า e:N1 จะต้องเป็นรถที่ขับสนุกคันหนึ่งเมื่อใช้ความเร็วสูง (กว่านี้)

อย่างไรก็ดี จุดประสงค์หลักของ Honda e:N1 คงไม่ใช่การรีดสุดยอดสมรรถนะเพื่อขับแบบเอาเป็นเอาตายบนสนามแข่ง แต่มันถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยเฉพาะการขับจากบ้านไปที่ทำงานในวันธรรมดา และขับไปเที่ยวเล่นนอกเมืองในช่วงวันหยุด ซึ่งแม้ว่าเราจะได้มีโอกาสอยู่หลังพวงมาลัยรถคันนี้เพียงไม่กี่นาที แต่ก็กล้าพูดได้เต็มปากว่านี่แหละ มันใช่เลย!

อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจรายละเอียดในแง่ของการใช้งานนั่นก็คือ ฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ของตัวรถที่ต่างสอดประสานได้อย่างกลมกลืนและลงตัวตามฉบับค่ายรถยนต์เก่าแก่ที่พัฒนารถยนต์มาอย่างยาวนาน

ปุ่มควบคุมและการแสดงผลต่างๆ ล้วนแต่อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็น การแจ้งเตือนความผิดปกติต่างๆ เป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่เยอะจนน่ารำคาญเหมือนกับที่พบในรถสัญชาติจีนบางรุ่น เหล่านี้เป็นความกลมกล่อมที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนามาเป็นอย่างดี เกิดเป็นเสน่ห์ดึงดูดชวนให้กลับไปนั่งอยู่หลังพวงมาลัยทุกเมื่อเชื่อวัน

ถึงมีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะฮอนด้าไทยยังไม่เอามาขาย!

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่าฮอนด้าเตรียมนำรถยนต์ไฟฟ้า e:N1 เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยช่วงปลายปี 2566 นี้ แต่สาวกฮอนด้าที่อยากขยับไปใช้รถไฟฟ้าคงต้องผิดหวัง เพราะแผนดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

และถึงแม้ว่าจะสามารถดึงโควต้าเข้ามาจำหน่ายให้ลูกค้าไทยได้ ก็คงมีปริมาณน้อยมากจนแทบไม่ต่างไปจากชะตากรรมของ Honda Civic Type R หรือแม้กระทั่ง Toyota bZ4X นั่นแล

แต่ถึงกระนั้น การที่เราได้ทดลองขับ Honda e:N1 ณ ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ก็ตอกย้ำให้เห็นว่ายังมีทางเลือกที่ “ดีพอ” กับการรอคอย และควักเงินในกระเป๋าเพื่อแลกมันมา เพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลานั้น... เท่านั้นเอง

ขอขอบคุณคณะผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดลองขับในครั้งนี้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.