ส่องพื้นฐาน BEM-BTS รับผลบวกรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในเส้นทางสายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน และสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา 

ส่งผลให้เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันแรกในการเริ่มคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 2 สายดังกล่าว ในราคา 20 บาทตลอดสาย มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 27,411 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดง 254 คน-เที่ยว) และรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 73,878 คน-เที่ยว 

โดยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันทำงานช่วงวันที่ 2-12 ต.ค. ที่ผ่านมา ก่อนมีมาตรการฯ พบว่า สายสีแดงเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 2,135 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 8.45% (ค่าเฉลี่ยสายสีแดง 25,276 คน-เที่ยว) และสายสีม่วงเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 3,138 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้น 4.44% (ค่าเฉลี่ยสายสีม่วง 70,740 คน-เที่ยว) 

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 497,319 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 26,973 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้น 5.73% (ค่าเฉลี่ยสายสีน้ำเงิน 470,346 คน-เที่ยว) เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ที่สถานีเตาปูน

บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ค่ารถไฟฟ้าสาย “สีม่วง-สีแดง” 20 บาทตลอดสาย คาดหนุนผู้โดยสารใช้เพิ่ม 1 แสนคนต่อเที่ยวต่อวัน ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆ กำลังเร่งหาจุดคุ้มทุน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในระยะถัดไป ประเด็นดังกล่าวน่าจะดีต่อหุ้นกลุ่มขนส่ง อย่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ในระยะสั้น

บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับสายสีแดงและสายสีม่วง มองว่าเป็นประโยชน์ต่อ BEM เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อกันตรงวงแหวนรอบกรุงเทพฯ ที่ BEM วิ่งอยู่ ทำให้คนขึ้นรถไฟฟ้าของ BEM เพิ่มขึ้น ในทางเทคนิคมองว่าระยะสั้นเป็นการกลับตัว

ทั้งนี้ “โพสต์ทูเดย์” จะพามาดูในเชิงปัจจัยพื้นฐานของ BEM และ BTS ซึ่งได้รับประโยชน์จากค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง 

เริ่มที่ BEM บล.ลิเบอเรเตอร์ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 10.90 บาท โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 ที่ 936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9%QoQ และเพิ่มขึ้น 8.6%YoY แม้รายได้อื่นขนาดใหญ่มีเพียงเงินปันผลจาก บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ราว 232 ล้านบาท (ไตรมาสนี้ไม่มี บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP) แต่ด้วยปริมาณจราจรบนทางด่วน เพิ่มขึ้น 1.3%QoQ จากการเปิดภาคเรียน และบนรถไฟฟ้าที่ขยายตัวแรง 16.8%QoQ และเพิ่มขึ้น 31.2%YoY ได้อานิสงส์จากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการ ประกอบกับการกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติของประชาชน ทำให้ผลการดำเนินงานดีน่าพอใจ

โดยหากเป็นตามคาด กำไรงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 จะคิดเป็น 69.8% ของประมาณการ ขณะที่ high season กำลังมาเยือน จึงคงประมาณการกำไรปี 2566 ที่ 3,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.1%YoY 

ขณะเดียวกัน BTS บล.พาย แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 9.70 บาท โดยคาดกำไรไตรมาส 2-3/2567 (ก.ค.-ธ.ค.2566) จะฟื้นตัวเล็ก จากไตรมาส 1/2567 (เม.ย.-มิ.ย.2566) มีผดลขาดทุนสุทธิ 772 ล้านบาท เป็นผลจากส่วนแบ่งกำไรที่คาดว่าจะพลิกเป็นบวก หลังมีการปรับโครงสร้างธุรกิจของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER และมีส่วนแบ่งขาดทุนจาก บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX น้อยลง 

นอกจากนี้ จำนวนผู้โดยสารในระบบ BTS ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีกับรายได้ธุรกิจสื่อเคลื่อนที่และส่วนแบ่งกำไรของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวนี้จะเผชิญแรงกดดันจาก SG&A ที่ยังยืนสูงจากการขยายธูรกิจวินเชื่อบุคคล-ประกันออนไลน์ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) จาก MRT สายสีเหลือง-ชมพู ในช่วงที่จำนวนผู้โดยสารกำลังทยอยเข้าสู่ระบบในช่วงแรกของการเปิดดำเนินงาน โดยคาดกำไรทั้งปี 2567 (เม.ย.2566-มี.ค.2567) อยู่ที่ 882 ล้านบาท 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.