กสทช.ปลดล็อคประมูลดาวเทียม สู่การจัดสรรใบอนุญาต คาดเคาะไตรมาสแรกปี 67
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า กสทช.ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อปรับปรุงแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ฉบับที่ 1 ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2563 โดยมีสาระสำคัญในแผนที่กำหนดวิธีการจัดสรรใบอนุญาตต้องมาจากการประมูลเท่านั้น ทำให้มีการประมูลวงโคจรดาวเทียมขึ้นเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ทว่า วงโคจรที่เหลือ อีก 2 ชุด ยังไม่มีผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้งาน ได้แก่ ชุดที่ 1 ตำแหน่ง 50.5 E และ 51 E และ ชุดที่ 5 ที่ 142 E เนื่องจากเป็นวงโคจรที่มีพื้นที่ให้บริการอยู่ต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการต่างชาติหลายราย ในขณะที่ดาวเทียมที่เหลือคือดาวเทียมสื่อสารไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน จึงไม่น่าสนใจเท่ากับดาวเทียมบรอดแบนด์
ดังนั้น บอร์ดกสทช.จึงต้องจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขแผนดังกล่าวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ควรเปิดให้มีวิธีอื่นในการจัดสรรนอกจากการประมูลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การจัดสรรอาจจะเป็นรูปแบบให้ใบอนุญาตลักษณะเป็นข่ายดาวเทียมแทนการจัดสรรแบบเป็นแพคเกจ เหมือนเดิม เมื่อถึงเวลาในการจัดสรรใบอนุญาต กสทช.จะออกประกาศในแต่ละข่ายดาวเทียมอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าการแก้แผนดังกล่าวจะทำให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมการจัดสรรใบอนุญาตดาวเทียมในครั้งหน้า
"การปรับปรุงแผนบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการนำไปสู่การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิวงโคจรที่เหลือ โดยที่ กสทช.ต้องสร้างสมดุลระหว่างการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และการให้ได้มาซึ่งผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่ประสงค์จะใช้งานโดยที่รัฐไม่เสียผลประโยชน์ รวมทั้งแผนฯ ดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศหรือข้อบังคับของ ITU ที่เป็นไปตามหลักสากล และสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ ได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อจะได้นำมาใช้ในการปรับปรุงแผนฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป"
ด้านนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็น จนถึงวันที่ 10 พ.ย.2566 เพื่อรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย คาดว่าจะสามารถประกาศลงราชกิจจานุเบกษาได้ภายในปีนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มจัดสรรใบอนุญาตชุดที่เหลือได้ภายในไตรมาสแรกปี 2567 ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็นมีความเห็นตรงกันว่าการแก้ไขแผนดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมดาวเทียม
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังขอให้กสทช.ประกาศการดำเนินการให้ใบอนุญาตล่วงหน้า 5 ปี จากเดิม 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวทั้งเรื่องการหาตลาด การสร้างดาวเทียม รวมถึงเงินลงทุนต่างๆได้ทันเวลา อันจะกระตุ้นให้เกิดรายใหม่เพิ่มเติมได้
สำหรับแนวทางในการจัดสรรใบอนุญาต ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สามารถทำได้หลายแบบ ได้แก่ 1.บิวตี้ คอนเทสต์ ด้วยการตั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ชัดเจน 2.เรฟวีนิวซ แชร์ริ่ง เป็นการเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐ คล้ายกับการประมูลแข่งขันราคา และ 3.ไดเร็ก อวอร์ด การพิจารณาจัดสรรให้โดยตรง
นายสมภพ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ดาวเทียมที่เหลือเป็นตลาดนอกประเทศ การหวังรายได้สูงเกินไปเป็นเรื่องยาก ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องไปแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ต้องทำการตลาดนอกประเทศ โดยวงโคจร 50.5 อยู่ในประเทศอาหรับ แอฟริกา เนเธอร์แลนด์ และ ตุรกี เป็นต้น ขณะที่วงโคจร 142 E ให้บริการประเทศญี่ปุ่น จีน อังกฤษ และออสเตรเลีย ข่ายดาวเทียมที่ได้ไปก็มีความจุจำกัด ให้บริการได้ไม่มาก ที่สำคัญคือธุรกิจดาวเทียมสื่อสารไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนดาวเทียมบรอดแบนด์
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.