2อดีตผู้ว่าฯธปท.ร่วมนักเศรษฐศาสตร์ดัง ค้านแจกเงินดิจิทัลได้ไม่คุ้มเสีย
นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ดังหลายคน โดยมีอดีต 2 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีความเห็นสอดคล้องกัน ได้ร่วมกันลงชื่อออกแถลงการณ์ที่จะขอให้รัฐบาลทบทวน “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ด้วยความรอบคอบอีกสักครั้ง เพราะเป็นนโยบายที่ ได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึง 7.8% ซึ่งสูงที่สุด ใน 20 ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่า ของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปี จะขายตัว 6.1% และ 4.6% ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า
นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจาก 6.1% มาอยู่ที่ประมาณ 2.9% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
2. เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น
เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญ คือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน
3. การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ
การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน
4. เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือ 61.6% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ด้วย
5. ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) ทั้งนี้เพื่อสร้าง "ที่ว่างทางการคลัง" (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต
นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับภาษี เพียง 13.7% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
6. การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
7. สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกล จึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด
ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก "นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท" แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว
แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลัง หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจง แทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทย และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น
สำหรับรายชื่อของ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ที่ได้ร่วมกันลงชื่อนั้น พบว่ามีชื่อของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายคน คือ ดร.วิรไท สันติประภพ และ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าฯ ธปท. รวมทั้งอดีตรองผู้ว่าฯ ธปท. เช่น รศ.ดร.อัจนา ไวความดี และ ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ขณะที่รายชื่อคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เช่น รศ.ดน.วรากรณ์ สามโกเศศ , ศ.ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ , รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร , ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด , เกริกไกร จีระแพทย์ รวมทั้งคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จากสถาบันการศึกษาชื่อดังของไทยหลายแห่ง
ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนึ่งในผู้ที่มีชื่ออยู่ในแถลงการณ์ของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมกันลงชื่อออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลทบทวน “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Veerathai Santiprabhob เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 พร้อมกับภาพรายชื่อนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ โดยมีเนื้อหาว่า
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ควรยกเครดิตให้กับคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์หลายท่านจากหลายสถาบันมากกว่าครับ ที่กล้ายืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง ร่วมกันนำเสนอขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินผ่านดิจิตัลวอลเล็ต ผมเป็นเพียงคนหนึ่งที่ได้รับแถลงการณ์นี้ และร่วมลงนามด้วยเท่านั้นครับ ไม่ได้เป็นผู้นำทีมแต่อย่างใด เป็นงานของคณาจารย์จากหลากหลายสถาบันครับที่คิดตรงกันครับ
โดยก่อนหน้านี้ ดร.วิรไท โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า การบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ทำนองว่า ถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด อาจจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตของผู้ป่วยหนึ่งคนและครอบครัว ถ้าวิศวกรสร้างตึก หรือสะพานผิดพลาด อาจจะหมายถึงชีวิตคนหลายสิบหรือหลายร้อยคนที่ใช้งาน แต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดแล้ว อาจจะกระทบต่อชีวิตของคนหลายสิบล้านคนทั้งประเทศ
วันนี้ ด้วยพลังของตลาดที่รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แค่ผู้มีอำนาจรัฐเริ่มคิดจะทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบ ก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคนได้ทั้งประเทศแล้ว ผ่านกลไกของตลาดเงินและตลาดทุน
เรามีตัวอย่างนโยบายภาครัฐจากอดีตหลายอันที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ แต่สร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาด และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ สร้างภาระทางการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพยาวนานไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หรือโครงการรถคันแรก
ถ้าเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการทำนโยบายที่หวังผลต่อ GDP แค่ช่วงสั้นๆ ผลที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงในการเลือกตั้งสี่ปีข้างหน้าอาจจะกลับทิศได้อีกด้วย ถึงเวลาใกล้เลือกตั้งรอบหน้าเศรษฐกิจที่โดนกระตุ้นด้วยยาโด๊บเงินดิจิตัลก็คงหมดพลังลงพอดี นอกจากนี้โครงการภาครัฐดีๆ อีกนับสิบนับร้อยโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในวันนี้และวันหน้าอาจโดนถูกตัดงบประมาณลง
ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าประชาชนจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป มากกว่านโยบายประชานิยม เชื่อว่าในอีกสี่ปีข้างหน้า กระแสเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก ในขณะที่ทรัพยากรด้านการคลังจะยิ่งจำกัดมากขึ้น
นอกจากนี้ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบแล้ว ความน่าเชื่อถือจะไหลลงเร็ว ทั้งจากในและต่างประเทศ จะทำอะไรต่อไปก็จะยากไปหมด มีแต่ความไม่เชื่อมั่น ความแคลงใจกัน นโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศจะยิ่งเกิดได้ยากมาก
โจทย์ในวันนี้น่าจะเป็นว่าจะช่วยกันหาทางลงให้กับนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ควรทำได้อย่างไร มากกว่าที่จะเดินหน้าต่อทั้งที่รู้ว่าจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.