ทายาทรุ่น 3 เร่งเครื่องธุรกิจหมวกกันน็อค พร้อมปั้นแบรนด์ส่งเวทีโลก
ก้าวย่างของธุรกิจบริษัท ป.ณรงค์แอนด์พี.เอ็น.ไอ. จำกัด ก่อตัวขึ้นจากโรงงานฉีดพลาสติกเมื่อราว 50 ปีก่อนที่สร้างจากน้ำพักน้ำแรงของอากง (คุณปู่) กระทั่งเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานทำให้ธุรกิจแทบล้ม จนครอบครัวต้องแบกหนี้กว่า 30 ล้านบาทเมื่อราว 30 ปีก่อนเหลืองทิ้งไว้เพียงโมเดลจักรยานพลาสติก 1 ชิ้น ที่ไปต่อยอดผลิตสินค้าโดยญาติแล้วส่งมาให้ทางครอบครัวจำหน่าย กระทั่งค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวจากคำบอกเล่าของนริศ เมธียนต์พิริยะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ป.ณรงค์แอนด์พี.เอ็น.ไอ.ฯ
ด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นถือว่าเกือบจะล้มละลาย แต่ยังสามารถผ่อนชำระหนี้ให้ธนาคารได้อยู่เรื่อย ๆ จนปี 2538-2539 อาม่า (คุณย่า) เล็งเห็นว่าในเมืองไทยยังไม่มีใครผลิตหมวกกันน็อควางขาย ก็เลยนำเข้าโมเดลหมวกกันน็อคจากต่างประเทศและเริ่มธุรกิจขึ้นในตอนนั้น พอดีกับเป็นช่วงที่รัฐบาลเขาประกาศการใช้ มอก. 2539 และกฎหมาเริ่มบังคับให้ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ทุกคนต้องใส่หมวกกันน็อค จึงเป็นจังหวะที่ทำให้ธุรกิจบูมและเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้กิจการของครอบครัวยืนได้อย่างมั่นคง
ต่อมากิจการได้พัฒนาจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง หลังทายาทรุ่น 2 คือณรงค์ เมธียนต์พิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป.ณรงค์แอนด์พี.เอ็น.ไอ. จำกัด (พ่อของนริศ) ซึ่งผ่านการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ได้นำประสบการณ์และ connection มาขยายภาพกิจการให้เติบโต
โดยเฉพาะก่อตั้งกิจการร่วมค้า ACS กับแบรนด์หมวกกันน็อค SHARK จากประเทศฝรั่งเศส ที่ทั้งทำโรงงานผลิตหมวกกันน็อคประเภทไฟเบอร์กลาสกับคาร์บอนที่ระยอง เพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก และยังเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ SHARK ในเมืองไทย โดยเริ่มแรกทั้งสองฝั่งต่างถือหุ้นที่อัตรา 50:50 แต่ต่อมากทางฝรั่งเศสขอซื้อหุ้นคืน ทำให้ทางครอบครัวได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือราว 20% ในปัจจุบัน
ไม่เพียงเท่านั้นหลังเริ่มนำนวัตกรรมจากญี่ปุ่นมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ในยุคของรุ่น 2 จึงเริ่มสร้างแบรนด์หมวกกันน็อคของบริษัทในชื่อ AVEX เมื่อ 30 ปีก่อน พร้อมกับริเริ่มธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์หมวกกันน็อคของญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่ง (หยุดดำเนินธุรกิจไปแล้ว)
ขณะที่ช่วงเวลาของผู้บริหารไฟแรงอย่างนริศเริ่มขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่เขาเล็งเห็นโอกาสและความต้องการผลิตภัณฑ์หมวกกันน็อคแนววินเทจ หลังได้ไปสำรวจตลาดและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ในหลายประเทศ และในตอนนั้นยังไม่มีผู้เล่นในเมืองไทยริเริ่มมาก่อน จึงนำไปสู่การสร้างสรรค์แบรนด์ ALTRAX ขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แแล้ว
แพลตฟอร์มออนไลน์สร้างแบรนด์
กระทั่งปัจจุบัน บริษัท ป.ณรงค์แอนด์พี.เอ็น.ไอ. ฯ ที่บริหารโดยทายาทรุ่น 3 ยังยืนหยัดในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายหมวกกันน็อค ภายใต้แบรนด์ AVEX และ ALTRAX รวมถึงให้บริการรับจ้างผลิตหมวกกันน็อค OEM ให้กับแบรนด์ค่ายรถมอเตอร์ไซด์ เช่นเดียวกับที่เป็นตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายหมวกกันน็อค SHARK แบรนด์ระดับโลกจากประเทศฝรั่งเศสด้วย
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมวกกันน็อคของบริษัท จึงเน้นความพิถีพิถันในการผลิตทุกขั้นตอนด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย แต่มีการควบคุมคุณภาพด้วยทีมงานที่เชี่ยวชาญ ตามมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9001 VERSION 2015 ทั้งระบบ ตลอดจนได้รับมาตราฐาน มอก. 369-2539 จากสำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมถึงมาตราฐาน S. MARK จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ทั่วโลกให้การยอมรับในด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยชั้นสูง อีกทั้งเน้นออกแบบด้วยรูปทรงที่สวยงามถูกหลักพลศาสตร์ เพื่อให้สวมใส่กระชับและแน่นสบาย
สำหรับสัดส่วนรายได้ของบริษัทตอนนี้จะมาจากแบรนด์ของบริษัทเองเป็นหลักราว 50% อีก 35% จาก OEM และประมาณ 15% จากธุรกิจในส่วนของ SHARK
จากที่นริศค้นพบว่า แม้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะมียอดขายที่ดี แต่แบรนด์ AVEX และ ALTRAX ที่วางขายมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือมี Brand awareness เป็นที่จดจำหรือแพร่หลายเท่าที่ควร ดังนั้นราว 5 ปีก่อนหลังจากที่นริศเริ่มเข้ามาบริหารกิจการอย่างจริงจังมากขึ้น จึงเริ่มรุกหนักในเรื่องการตลาดและสร้างแบรนด์ เพื่อต้องการเสริมคุณค่าและความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
โดยให้น้ำหนักการทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง Facebook AVEX หมวกกันน็อค และ TikTok avexhelmets ตลอดจนนำผลิตภัณฑ์ไปขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และ Lazada ด้วย
ญาติของผมที่เก่งเรื่องการตลาดออนไลน์มาช่วยดูแลเรื่องนี้ จึงถือว่าเราเป็นแบรนด์หมวกกันน็อครายแรก ๆ เลยที่ทำการตลาดและขายบน TikTok ซึ่งประสบความสำเร็จมากทั้งยอดคนติดตาม ยอดไลค์ และยอดขาย
ส่งออกสู่เวทีโลก
ในฐานะทายาทรุ่น 3 นริศมีฝันใหญ่ที่ต้องการเร่งเครื่องให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีโอกาสส่งออกไปวางจำหน่ายทั่วโลกภายในเวลา 10 ปีจากนี้ ซึ่งด้วยอุปสรรคในเรื่องต้นทุนค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง จึงเลือกมุ่งพัฒนาแบรนด์ให้ที่เป็นที่ต้องการสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ชื่นชอบ จนรู้สึกพึงพอใจและยอมรับที่จะซื้อหมวกกันน็อคในราคาสูงขึ้นได้
ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดทั่วโลก โดยแม้มีราคาซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับตลาดในไทย แต่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนสามารถแข่งขันกับแบรนด์อื่น ๆ หรือแบรนด์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศได้ จึงต้องใช้กลยุทธ์สื่อสารการตลาดและมีแผนการตลาดที่กระตุ้นชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์
ผมอยากให้หนึ่งในแบรนด์ของเรา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนเอื้อมถึง สามารถส่งออกได้ทั่วโลกภายใน 10 ปี จากที่ปัจจุบันเรายังส่งออกไปถึงแค่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านหรือ CLMV เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลังผ่านช่วงโควิดแพร่ระบาดมา พบว่ายอดขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในตลาดเพื่อนบ้านเริ่มซบเซาลงมากเหลือเพียงเดือนละไม่ถึง 1,000 ใบ จากเดิมที่เดือนละ 2,000 ใบ เพราะกำลังซื้อหดหายไปทั้งจากคนมีภาระหนี้สูงขึ้นและจากที่รายได้หายไปหรือลดลงกว่าเดิม เช่นเดียวกับในเมืองไทยเองก็ยอดขายตกลงไปถึงราว 70% แต่ในปีนี้ก็เริ่มมีทิศทางฟื้นขึ้นบ้างแม้ยังไม่เท่าช่วงก่อนโควิดก็ตาม
แต่สำหรับแผนระยะอันใกล้นี้ นริศวางแผนจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเจาะตลาดหมวกกันน็อคระดับกลาง (ตั้งแต่ราคา 1,000-2,000 บาทต่อใบ) ซึ่งตั้งเป้าจะเริ่มวางจำหน่ายภายในปีหน้า
ในแง่การบริหารจัดการองค์กร นริศเล่าว่าเขาเริ่มนำ robot มาทดแทนแรงงานคนในกระบวนการผลิตบางส่วนหรือประมาณ 20% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ แต่ด้วยกระบวนการผลิตหมวกกันน็อคจะมีขั้นตอนที่ต้องใช้ฝีมือคนค่อนข้างมาก จึงยังต้องพึ่งพาทักษะของพนักงานเป็นหลักก่อน
หมวกกันน็อคเป็นงาน hand craft ไม่เชิงเป็นงาน mass product โดยเฉพาะพวกลวดลายกราฟฟิกทั้งหลายเป็นฝืมือของพนักงานล้วน ๆ"
ถอดบทเรียน Smart SME
ด้วยธุรกิจหมวกกันน็อคใช้แรงงานฝีมือในการผลิตถึง 80% ในฐานะที่นริศเป็นทายาทของธุรกิจ SME จึงให้ความเห็นถึงประเด็นเรื่องการดูแลพนักงาน ที่พบว่าผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มักมองข้ามหรือให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานน้อยเกินไป ทั้งเรื่องความปลอดภัย สุขภาพ และความมั่นคงทางอาชีพการงาน เพราะมองว่าหากเจ้าของหรือผู้บริหารไม่ดูแลให้ดี หากวันหนึ่งพนักงานได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าจากบริษัทอื่นก็คงตัดสินใจลาออกไป ซึ่งย่อมทำให้บริษัทเสียหายจากการสูญเสียแรงงานฝีมือที่ใช้เวลาฝึกฝนมานาน รวมถึงทักษะและความรู้อื่น ๆ ก็ออกไปจากบริษัทด้วย
อย่างไรก็ตามนริศย้ำว่าที่บริษัทจัดการเกี่ยวกับการดูแลพนักงานกว่า 200 ชีวิตได้ดี เพราะมีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำมาก และมีหลาย ๆ คนที่ทำงานกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อก็ยังอยู่จนถึงวันนี้ โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในไลน์ผลิต ต้องดูแลให้เขาทำงานแล้วรู้สึกสบายใจ ไม่รู้สึกว่าทำแล้วจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือต้องบาดเจ็บ เพราะงานหมวกกันน็อคใช้สารเคมีและอุปกรณ์ที่อันตรายด้วย
แม้เราจะเป็น family business แต่มองว่าการดูแลพนักงานให้เขาอยู่กับเรานั้นคุ้มค่ามาก เพราะหากเราดูแลไม่ดี แล้วเขาออกไปแล้วย่อมเสียหายมากกว่า จึงต้องพยายามที่จะรักษาเขาไว้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.