ประชุมบอร์ดกสทช.ล่ม 4 กสทช.ข้างมากค้านประชุมเปิดเผย
การประชุมกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) โดยมีนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ดกสทช. เป็นประธานการประชุม ในวันที่ 4 ต.ค. 2566 ในรูปแบบการประชุมแบบเปิดเผยครั้งแรกล่มไม่เป็นท่า เมื่อถึงเวลาเริ่มประชุมมีกรรมการเข้าประชุมเพียง 2 คนคือ นพ.สรณ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ โดยหลังจากประธาน เปิดประชุมในเวลา 09.30 น.แล้วรอจนถึงเวลา 10.00 น. เมื่อองค์ประชุมไม่ครบจึงสั่งเลื่อนการประชุม
ขณะที่บอร์ดที่เหลือ 4 คน คือ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ไม่ได้เข้าประชุม โดยได้ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หน้าห้องประชุมชี้แจงเหตุผลว่า ประธานได้นัดประชุมแบบเปิดเผยสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย จากที่สำนักงาน กสทช. ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนมาก ที่ สทช 2001.1/2415 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 เรียน กสทช. ทุกท่านเพื่อเชิญประชุมแล้ว โดยมิได้ระบุว่าเป็นการประชุมแบบเปิดเผยหรือจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง ที่ผ่านมาก็ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดว่า กรณีนี้คือการประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง
แต่กรรมการ กสทช. เพิ่งทราบภายหลังว่าการประชุมครั้งที่ 20/2566 ประธาน กสทช. ได้กำหนดเป็นการประชุมแบบเปิดเผย โดยรับทราบจากสื่อมวลชนและหนังสือถึงเลขานุการของกรรมการ การกำหนดการประชุมแบบเปิดเผยจึงไม่ชอบด้วยขั้นตอนตามข้อบังคับการประชุมและใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ
การประชุมเปิดเผยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การกำหนดการประชุมครั้งที่ 20/2566 เป็นการประชุมแบบเปิดเผยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะวาระการประชุมส่วนใหญ่มีข้อมูลความลับทางธุรกิจของบริษัท ข้อมูลส่วนบุคคล และความลับราชการ เป็นต้น ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีข้อจำกัดและเงื่อนไขตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2540 เป็นต้น การประชุมแบบแบบเปิดเผยโดยเปิดกว้างให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมาย รวมทั้งอาจต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต
การกำหนดให้การประชุมใดเป็นการประชุมแบบเปิดเผยต้องคำนึงถึงลักษณะและเนื้อหาสาระของวาระว่าต้องไม่มีข้อมูลที่มีข้อจำกัดในการเปิดเผย และสุ่มเสี่ยงกับการละเมิดสิทธิของบุคคลใด รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้กรรมการมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระและไม่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดที่อาจเกิดจากการแสดงความคิดเห็นที่บางครั้งกระทบกระเทือนถึงสิทธิบุคคลอื่น ดังนั้น มิใช่ทุกวาระสามารถจัดให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผยได้ เช่น วาระการให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการ
การเชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับ
วาระดังกล่าวการประชุมแบบเปิดเผยสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นวาระเฉพาะตามที่กำหนดในระเบียบการประชุม ข้อ 8 และต้องไม่ใช่วาระการประชุมแบบปกติซึ่งมีข้อมูลจำนวนมากของผู้ประกอบการ/ผู้บริโภค
แม้ประธานจะมีสิทธิกำหนดให้การประชุมครั้งใดเป็นการประชุมแบบเปิดเผยได้ แต่ก็ไม่ควรตีความตามตัวอักษร ถ้าดูระเบียบข้อให้จัดการประชุมแบบเปิดเผยในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในภาพรวม กรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้พิการ กรณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการ
4 พฤติกรรม เหตุแห่งวาระการประชุมคั่งค้าง
นอกจากนี้ยังมี 4 พฤติกรรม เหตุแห่งวาระการประชุมคั่งค้าง คือ การสั่งปิดประชุมกะทันหัน จากการประชุม กสทช. 16/2566 วันที่ 9 ส.ค. 2566 ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระที่ 4.43 เรื่อง (ร่าง) โครงสร้างของสำนักงาน กสทช. (ลับ) แต่มีข้อถกเถียงว่า ในการลงมติจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 41 หรือข้อ 45 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในระหว่างที่การถกเถียงยังไม่ได้ข้อยุติ ประธาน กสทช. ได้สั่งพักการประชุม 20 นาที เพื่อออกไปหารือกับทีมงานของตนเอง หลังจากนั้นในระหว่างพักการประชุมยังไม่ครบเวลาตามที่กำหนด ประธาน กสทช. เข้าห้องประชุมมาแล้วก็ได้แจ้งปิดการประชุมทันที และเดินทางออกไปจากสำนักงาน กสทช. เลย ต่อมาในการประชุม กสทช ครั้งที่ 17/2566 วันที่ 23 ส.ค.2566 แม้จะมีวาระคั่งค้างจำนวนมาก ประธาน ได้สั่งปิดการประชุม โดยอ้างว่า บ่ายโมงแล้ว
การเปลี่ยนแปลงกำหนดวันประชุม/ สถานที่ประชุม / ยกเลิกประชุมตามความต้องการของประธาน เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ ที่ประชุม กสทช. มีการตกลงหลักการร่วมกันว่าจะประชุมทุกวันพุธ ตามแนวทาง กสทช. ชุดเดิม แต่จะประชุมถี่ขึ้น โดยเดือนหนึ่งจะประชุมสามสัปดาห์ แล้วเว้นหนึ่งสัปดาห์
ต่อมา ประธานขอเปลี่ยนเป็นประชุมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ โดยกำหนดให้เป็นวันพุธที่สองและพุธที่สี่ของเดือน พร้อมมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอปฏิทินล่วงหน้าทุกสามเดือนเข้ามาให้บอร์ดพิจารณาความเหมาะสม ดังเช่นที่ปรากฏในรายงานการประชุม กสทช ครั้งที่ 12/2566 วาระที่ 5.31 เรื่องการจัดทำแผนการประชุม กสทช ประจำปี 2566 ไตรมาสที่สาม ภายหลังจากการประชุม กสทช ครัั้งที่ 13/2566 ที่มีการพิจารณาวาระเรื่องรายงานผลการตรวจสอบกรณีบอลโลก พบว่า ประธานได้มีการเปลี่ยนแปลงวันประชุม และได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประชุมจากห้องประชุมชั้น 12 ของอาคารอำนวยการ ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมตลอดการประชุมของ กสทช ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยอำเภอใจ ท่ามกลางเสียงทักท้วงของกรรมการส่วนใหญ่ในเรื่องความปลอดภัยและการบันทึกเสียง ประธานอ้างว่าต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ อุปกรณ์ห้องประชุมชั้น 12 เสียง และบางครั้งอ้างว่าเป็นอำนาจของเลขาธิการ
การใช้ดุลพินิจกำหนดลำดับวาระเร่งด่วนโดยอำเภอใจแม้อำนาจในการนำเสนอและลำดับวาระว่าเรื่องใดเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อเสนอต่อที่ประชุม เป็นอำนาจของ ประธาน กสทช. ตามระเบียบ ข้อบังคับการประชุม ข้อ 19 และข้อ 20 ซึ่งส่งผลทำให้ประธานเป็นผู้สามารถบริหารจัดการและชี้ขาดว่าจะพิจารณาวาระใดก่อนหลัง การใช้ดุลพินิจของประธานที่ผ่านมาในการจัดลำดับความสำคัญของวาระการประชุมกลับไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง
ในการประชุมหลายครั้ง บอร์ดหลายคนในที่ประชุมเสนอให้ประธานบริหารจัดการและนำวาระเร่งด่วนขึ้นมาพิจารณาก่อน เพื่อให้สำนักงานสามารถนำไปดำเนินการต่อได้เพราะมีเงื่อนไขในเรื่องห้วงเวลา กระนั้นก็ตามประธานอ้างว่าอำนาจในการกำหนดวาระเพื่อพิจารณาและกำหนดเวลาปิดประชุมเป็นของประธาน ไม่ใช่อำนาจของบอร์ด ดังเช่นการประชุม กสทช ครั้งที่ 19/2566 วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมที่จังหวัดนครพนม
เลขานุการและประธานเป็นผู้เลือกวาระขึ้นมาพิจารณา เช่น วาระรับรองรายงานการประชุมที่ควรจะเป็นวาระพิจารณาตั้งแต่ต้น เลขานุการโดยความเห็นชอบของประธาน เสนอเลื่อนการพิจารณา ทำให้การรับรองรายงานการประชุมค้างตั้งแต่ครั้งที่ 16/2566 วันที่ 9 ส.ค. เป็นต้นมา
และประธานยังเป็นผู้กำหนดเวลาปิดประชุมโดยอ้างว่าต้องรีบไปขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพ ส่งผลให้การประชุมครั้งที่ 19/2566 ดังกล่าวพิจารณาวาระค้างได้เพียง 3 วาระ จาก 37 วาระ และพิจารณาวาระใหม่ 8 วาระจาก 16 วาระ ดังนั้นการประชุม กสทช ครั้งที่ 20/2566 วันที่ 4 ต.ค.2566 จึงมีวาระค้างพิจารณาถึง 42 วาระ และวาระเพื่อพิจารณาที่เข้ามาใหม่อีก 22 วาระ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ดุลพินิจบรรจุวาระอย่างเลือกปฏิบัติ ประธานอ้างว่าอำนาจในการบรรจุวาระเป็นของประธาน แม้ข้อบังคับการประชุมจะระบุว่ากรรมการ กสทช. มีสิทธิเสนอวาระเข้าที่ประชุม แต่หลายครั้งประธานปฏิเสธที่จะไม่อนุมัติเรื่องเข้าประชุม ที่ผ่านมามีตัวอย่าง อาทิ การบรรจุวาระ กสทช. มีความล่าช้าเป็นเหตุให้การพิจารณามีมติในการประชุม กสทช 14/2566 วันที่ 26 มิ.ย.2566 วาระ 4.6 การรับสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาการแข่งขันกีฬารายการที่กำหนดในภาคผนวกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ของสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา (T Sports 7) เกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ไปแล้ว ซึ่งการแข่งขันฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566
โดยที่คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ก่อนการเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ห้วงเวลาระหว่างการขอบรรจุวาระของสำนักงาน กสทช. กับวันที่เรื่องได้รับการอนุมัติให้บรรจุวาระ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ก็ได้จบลงแล้ว
ยืนยันประชุมเปิดเผยตามหลักสากล
ด้านพล.อ. สิทธิชัย มากกุญชร โฆษกประจำประธานกสทช.กล่าวว่า การประชุมแบบเปิดเผยในวันนี้ ทางประธาน กสทช.ต้องการให้มีความโปร่งใส่ เหมือนเช่นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการถ่ายทอดเสียงตามสาย และมองว่าวาระเรื่อง เสนอชื่อเลขาฯ กสทช. และการปรับโครงสร้างสำนักงานฯ ไม่จำเป็นต้องแยกออกมาประชุมเป็นวาระพิเศษ ส่วนข้อกังวัลของ 4 บอร์ด ในเรื่องการประชุมแบบเปิดเผยนั้น ก็จะนำไปเรียนประธานกสทช. ซึ่งการประชุมบอร์ด ครั้งต่อไปก็ยืนยันว่าจะเป็นการประชุมแบบเปิดเผย และจะมีการแจ้งล่วงหน้าหลายวันต่อบอร์ดก่อน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.