เจาะภารกิจ EECi หนุนงานวิจัย-นวัตกรรม เสริมแกร่งเกษตรอัจฉริยะ

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation :EECI) ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารและพัฒนา EECi เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้ประโยชน์ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ (1) เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง(2) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (3) แบตเตอรี่และการขนส่งสมัยใหม่ (4) ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (5) การบินและอวกาศ และ (6) เครื่องมือแพทย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมูลค่าภาคเกษตร สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทย และ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ

EECi จึงถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศด้วยการปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีผ่านการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับงานวิจัยขยายผล (Translational Research) และการปรับแปลงเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เข้ากับบริบทของไทย (Technology Localization)

โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญคือการขับเคลื่อนเกษตรสมัยใหม่ในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพ SME ไทยสามารถมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน 

โรงเรือนอัจฉริยะ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรส่งต่อ SME
ในพื้นที่ EECi มีโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) ในการทำหน้าที่เป็นแหล่งคัดเลือกพืชและสมุนไพรที่มีคุณสมบัติและความสามารถในการผลิตสารสำคัญทางอาหารและยาสูง และใช้ในการพัฒนาการผลิตพืชในระบบปิดที่สามารถควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของพืชและสมุนไพรแต่ละชนิด ที่ใช้พื้นที่น้อยได้ผลผลิตสูงที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างและโลหะหนัก

ในโรงเรือนอัจฉริยะได้คัดเลือกสายพันธุ์ดีของบัวบก ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำที่มีปริมาณสารสำคัญสูงปลูกในโรงเรือน และได้สูตรระบบการผลิตของพืชสมุนไพรดังกล่าว ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยระบบการผลิตขมิ้นชันปลอดโรคในโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะที่มีการบริหารจัดการด้านการให้น้ำ ให้ปุ๋ย การกระตุ้นด้วย stimulants และ ควบคุมระยะของทรงพุ่มได้ สามารถปลูกในระยะชิดในระบบโรงเรือน ให้ผลผลิตหัวพันธุ์มากกว่าการผลิตในแปลงประมาณ 2.5 เท่า มูลค่าของหัวพันธุ์สูงกว่าการเหง้าขมิ้นตามราคาท้องตลาด ประมาณ 10 เท่า 

รวมถึงได้ขยายผลพันธุ์ดีและสูตรการเพาะปลูกสมุนไพรดังกล่าวสู่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ร่วมกันเป็นพื้นที่สาธิตเทคโนโลยี ตัวอย่างได้แก่ สวนบ้านบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เป็นพื้นที่สาธิตสำหรับการปลูกฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ดี สวนกำนัน สาคร อ.วังจันทร์ เป็นพื้นที่สาธิตสำหรับการปลูกกระชายดำสายพันธุ์ดี ผลิตจากระบบ tissue culture รวมถึงมีวิสาหกิจชุมชนรับผลผลิตจากโรงเรือนไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่างด้วย คือ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มลุฟฟาลา รับผลผลิตบัวบกไปทดลองผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางค์ และ โรงพยาบาลวังจันทร์รับผลผลิตฟ้าทะลายโจรไปทดลองผลิตภัณฑ์กลุ่มยาสมุนไพร
ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะสู่ชุมชน

ในพื้นที่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ (Smart Agriculture) ให้แก่ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ EEC โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนแล้วทั้งสิ้น 347 ชุมชน และมีเกษตรกร ทั่วไปในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 4,776 คน ใน 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) โดยมีเทคโนโลยีที่นำไปถ่ายทอดจำนวน 60 เทคโนโลยี อาทิเช่น

เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ผักอินทรีย์/ผักปลอดภัย,เทคโนโลยีการแปรรูป: มังคุด สมุนไพร, เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะกับไม้ผล: ทุเรียน สละ ขนุน และลำไย, เทคโนโลยีปศุสัตว์: โค และระบบอัจฉริยะกับการผลิตสัตว์น้ำ: กุ้ง ปลา เป็นตัน ซึ่งสามารถสร้งมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 267 ล้านบาท มีตัวอย่างผลงานเด่น ดังนี้

สวนบัวแก้ว จ.ระยอง ที่ใช้เทคโนโลยีระบบการให้น้ำอัจฉริยะ เป็นระบบเพิ่มความแม่นยำโดยใช้เซ็นเซอร์ควบคุมการให้น้ำระดับปลายราก ทำให้เกษตรกรสามารถลดการใช้น้ำ 809 เฉลี่ยลดลง 1,100 ลบ.ม. ต่อปี ต่อไร่ ลดความเสียหายจากทุเรียนร่วง โดยสวนทุเรียน 70 ไร่ ใช้คนงานเพียงแค่ 4 คน ซึ่งในปี 2565 นายสมบูรณ์ งามเสงี่ยม เจ้าของสวนบัวแก้วมีรายได้เพิ่มขึ้น 7.9 ล้านบาท และยังนำเทคโนโลยีไปขยายผลความรู้ให้กับกลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนสมาชิก 40 คน

วิสาหกิจชุมชน จ. ฉะเชิงเทรา ใช้เทคโนโลยีระบบการให้น้ำอัจฉริยะในโรงเรือน ยกระดับผลผลิตมีคุณภาพเพิ่มขึ้น จำนวน 6 โรงเรือน ลดการใช้สารเคมีป้องกันแมลง ทำให้ปลูกผักได้ ได้จำนวนรอบเพิ่มขึ้น จาก 6 รอบต่อปี เป็น 8 รอบต่อปี ซึ่งในปี 2565 นายวิรัช โปร่งจิต เจ้าของสวนสามารถสร้างรายได้เพิ่ม 80,000 - 100,000 ต่อโรงเรือน ต่อปี และวิสาหกิจชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน และยังนำเทคโนโลยีไปขยายผลให้กับสมาชิก 30 คน

แผน 4 ปี ส่งนวัตกรรมอัจฉริยะ ขยาย 4 กลุ่มคลัสเตอร์
EECi จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขต EEC โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 โครงการได้แก่ โครงการการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรในพื้นที่ EEC และ โครงการจัดการเพิ่มมูลค่าเปลือกทุเรียน มังคุด และเงาะ โดยวิธีสกัดสารออกฤทธิ์สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องสำอาง เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

โดยจะขยายการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรฯ เพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2566-2570 ให้ครอบคลุม 4 คลัสเตอร์เปัาหมาย ได้แก่ ไม้ผล ประมงเพาะเลี้ยง สมุนไพร และปศุสัตว์ ด้วยโครงการ ต่างๆ อาทิ 

โครงการขยายผลการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การบริหารระบบปุ้ยหลัก-รอง-เสริม การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปสินค้าเกษตรกลุ่มทุเรียน-มังคุด- มะม่วงด้วยเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ โครงการยกระดับการผลิตปลานิลและกุ้งขาวสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล โครงการขยายผลเทคโนโลยีแพลตฟอร์มไปสู่ผู้ใช้งาน การจัดการโคเนื้อเขตร้อนขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  

โครงการพัฒนาระบบการผลิตต้นและเมล็ดพันธุ์พืชสมุนไพรเศรษฐกิจ ในโรงเรือนไฮโดรโปนิกส์ระดับขยายขนาด เช่น ฟ้าทะลายโจรและบัวบก และโครงการพัฒนาระบบการผลิตกัญซงให้ได้ผลผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูงตามศักยภาพของพันธุ์ภายใต้สภาวะโรงเรือนปลูกพืช เป็นต้น

บทบาท ของ EECi นับจากนี้จะเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางปิดช่องว่างของประเทศไทยที่มีการลงทุนเกี่ยวกับงานวิจัยให้ออกไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ ตามแนวคิด จากหิ้ง สู่ ห้าง โดยเฉพาะ SME ไทยที่จะมีแต้มต่อในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.