เงินบาทอ่อนดิ่งสุดรอบ 10 เดือนดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่อง 3 สัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 36 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 36.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ  เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นทั้งในช่วงก่อนและหลังการประชุมเฟด โดยมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดที่เปลี่ยนแปลงไปใน dot plot ซึ่งบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน

รวมถึงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับทบทวนขึ้น สะท้อนสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่องของเฟด แม้ในการประชุมรอบนี้ เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% และเปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ไว้ตามเดิมก็ตาม      

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการออกพันธบัตรรัฐบาลของไทยที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณหน้า อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยอาจเป็นการปรับโพสิชันของตลาดก่อนการประชุม กนง. ในวันที่ 27 ก.ย. นี้ 

ในวันศุกร์ที่ 22 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 35.82 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,606 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 5,701 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,208 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 493 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (25-29 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (27 ก.ย.) และตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนส.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และค่าเงินหยวน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองผู้บริโภคเดือนก.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของจีน และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซน ด้วยเช่นกัน  

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงแรงตั้งแต่ช่วงต้น-กลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางหุ้นต่างประเทศท่ามกลางปัจจัยลบ อาทิ ข่าวบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของจีนยื่นล้มละลายในสหรัฐฯ อีกราย ความกังวลว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน ตลอดจนแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่ นักลงทุนยังรอติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างไรก็ตามหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์หลังตอบรับปัจจัยลบข้างต้นไปพอสมควร อนึ่งหุ้นกลุ่มแบงก์ร่วงลงสวนทางตลาด ในช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการปรับลดน้ำหนักการลงทุนของหุ้นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง      

ในวันศุกร์ที่ 22 ก.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,522.59 จุด ลดลง 1.26% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,970.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.24% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.80% มาปิดที่ระดับ 471.50 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25-29 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,550 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (27 ก.ย.) ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และประเด็นเรื่องการปิดทำการของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนส.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 (final) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของจีน และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.