EP ซุ่มเจรจาพันธมิตรยุโรป จ่อผุดธุรกิจพลังงานทางเลือก “กรีนไฮโดรเจน”

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต จากปัจจุบันที่ดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ และธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ 

โดยแบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม Wind Power รวม 160 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็นสัดส่วน 83.14% และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในไทย รวม 32.45 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 16.86% 

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรจากยุโรป เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจพลังงานทางเลือก “กรีนไฮโดรเจน” ในไทย ในลักษณะร่วมทุนกับพันธมิตรตั้งโรงผลิตกรีนไฮโดรเจน รวมทั้งบริษัทจะส่งพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงผลิตกรีนไฮโดรเจน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2568

ทางด้านแหล่งเงินทุนในการลงทุนดังกล่าว จะมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินที่ได้จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม

โดยขณะนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในประเทศเวียดนาม ได้ดำเนินการเชื่อมสายส่งของโครงการ HL3,4 (Quang Tri) จำนวน 2 โครงการๆ ละ 30 เมกะวัตต์ รวม 60 เมกะวัตต์ เข้ากับสถานีไฟฟ้าย่อย Lao Bao และของโครงการ Gia Lai จำนวน 2 โครงการๆ ละ 50 เมกะวัตต์ รวม 100 เมกะวัตต์ เข้ากับสถานีไฟฟ้าย่อย Dien Hong / Chu Se ของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งโครงการได้เริ่มทำการทดลองเดินเครื่อง ทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้า ตามข้อกำหนดของ EVN แล้ว 

สำหรับโครงการ HL3,4 (Quang Tri) รวม 60 เมกะวัตต์ จะทยอยเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงต้นเดือน ต.ค.2566 มีรายได้อยู่ที่ 13.3 ล้านดอลาร์สหรัฐ/ปี จากนั้นโครงการ Gia Lai รวม 100 เมกะวัตต์ จะ COD ภายในเดือน พ.ย.2566 มีรายได้อยู่ที่ 22 ล้านดอลาร์สหรัฐ/ปี    

“EP ถือเป็นบริษัทไทยที่ COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม หลังโควิด-19 เป็นรายแรก ซึ่งเมื่อ COD จะรับรู้รายได้ทันที คาดว่าในปี 2566 จะรับรู้รายได้ของทั้ง 4 โครงการ ในเวียดนาม รวม 160 เมกะวัตต์ เข้ามากว่า 283 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2567 จะรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี ประมาณกว่า 1,135 ล้านบาท/ปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2586 จึงมั่นใจว่ารายได้รวมปี 2566 จะเติบโตกว่า 50% ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายยุทธ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ 2 ชุดใหม่ มูลค่ารวมไม่เกิน 770 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมจำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขายคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,270 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดจองได้ระหว่างวันที่ 22-26 ก.ย.2566

โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี 3 เดือน ผลตอบแทน 6.25% และหุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราผลตอบแทน 6.7% เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ 

สำหรับวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทเตรียมนำเงินไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน และเพื่อใช้ทดแทนกระแสเงินสด และ/หรือคืนเงินกู้ยืมที่ใช้จ่ายคืนหุ้นกู้ของบริษัท รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

“บริษัทมั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุดใหม่นี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเหมือนเช่นเคย โดยหุ้นกู้ทุกรุ่นที่ออกโดย EP ที่ผ่านมานั้นสามารถจ่ายอัตราดอกเบี้ยได้ครบ และตรงตามกำหนดทุกรุ่น เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ ที่มีความแข็งแกร่ง และนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนี้ไปใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ พร้อมทั้งสามารถนำไปขยายการลงทุน เพื่อผลักดันผลประกอบการให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว” นายยุทธ กล่าว

ทั้งนี้ หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดดังกล่าว จะเสนอขายผ่าน บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท หลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด, บริษัท หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท หลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.