4 กสทช.เสียงข้างมาก ส่งหนังสือถึงประธาน เบรควาระตั้งเลขาฯ

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ในวันที่ 21 ก.ย.2566 ซึ่งมีวาระค้างพิจารณาที่สำคัญคือ การเห็นชอบการแต่งตั้ง...(ประธานกสทช.เสนอชื่อในที่ประชุม) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช.นั้น บอร์ดกสทช.เสียงข้างมาก 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ ,น.ส.พิรงรอง รามสูต , นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ส่งบันทึกข้อความถึงประธานกสทช.ใน 3 ประเด็น ทำให้การประชุมสัญจร จ.นครพนม ไม่สามารถพิจารณาวาระเลือกเลขาธิการกสทช.ได้ โดยหนังสือระบุไว้ดังนี้  

1.กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.
โดยที่ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ของประธานกสทช. ซึ่งประธาน กสทช. ได้กล่าวว่าเป็นอำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวนั้น กรรมการทั้ง 4 คนได้ทำการคัดค้านมาโดยตลอดถึงอำนาจและกระบวนการที่น่จะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส ทั้งการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่นำเรียนต่อประธาน กสทช. และโดยวาจาที่ได้มีการนำเสนอในที่ประชุม กสทช.

โดยได้มีการขอให้ประธาน กสทช. ยุติกระบวนการที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใสดังกล่าว แต่ประธาน กสทช. ก็นิ่งเฉยและได้ดำเนินกระบวนการกระทั่งประธาน กสทช. ได้ทำการคัดเลือกบุคคลและจะทำการนำเสนอรายชื่อนั้นต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 19/2566 วันที่ 21 ก.ย.2566

กรรมการทั้ง 4 คน ขอเรียนว่ากระบวนการคัดเลือกของประธาน กสทช. น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส ประกอบกับปัจจุบันมีกรณีที่บุคคลผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. จำนวน 4 คน ทำการโต้แย้งคัดค้านถึงการดำเนินการคัดเลือกดังกล่าว ทั้งนี้ หากประธาน กสทช. ยังคงนิ่งเฉยและดำเนินกระบวนการต่อไป อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จนมิอาจแก้ไขเยียวยาได้

2.การมีส่วนได้เสียของกรรมการทั้ง 4 คน
แม้ว่าจะได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และอาจเป็นบุคคลที่ประธาน กสทช. จะเสนอรายชื่อต่อที่ประชุม กสทช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ได้ทำการฟ้องกรรมการทั้ง 4 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้กรรมการทั้ง 4 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่เป็นกลางแต่อย่างใด เนื่องจากศาลฯยังมิได้วินิจฉัยจนถึงที่สุดว่ากรรมการทั้ง 4 คน ทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ ทั้งนี้ หากพิจารณาว่าเมื่อกรรมการผู้ใดถูกฟ้องแล้ว กรรมการคนนั้นจะตกเป็นผู้มีส่วนได้เสียทันทีย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลแกล้งฟ้องหรือร้องเรียน กรรมการเพื่อมิให้กรรมการมีอำนาจพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนในอนาคตได้

ซึ่งเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้แล้วว่า แม้ผู้ทำคำสั่งทางปกครองจะถูกผู้ตกอยู่ภายใต้คำสั่งฟ้องคดี แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีหลักฐานใดที่สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมว่ากรณีดังกล่าวทำให้การพิจารณาออกคำสั่ง มีสภาพร้ายแรงจนเสียความเป็นกลางผู้ออกคำสั่งย่อมสามารถออกคำสั่งได้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.536/2554 

นอกจากนี้คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็ได้มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 87/2563 สรุปได้ว่า บทบัญญัติมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งบัญญัติลักษณะต้องห้ามของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้นั้น บัญญัติขึ้นโดยมีความมุ่งหมายที่จะใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง เพื่อให้การพิจารณาทางปกครองได้รับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่เป็นกลางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในทางที่เป็นคุณหรือโทษกับคู่กรณี อันอาจทำให้ข้อยุติในผลการพิจารณาทางปกครองไม่เป็นธรรม 

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้บทบัญญัติทั้งสองมาตรานั้นมีข้อยกเว้นตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 13 ถึงมาตรา 16 ไม่ให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าข้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 20 รรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมระบุไว้ว่า 

"ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และให้ถือว่า กสทช, ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีจำนวนกรรมการไม่น้อยกว่าสี่คน"

3.การมีส่วนได้เสียของประธาน กสทช.
กรรมการทั้ง 4 คน ขอเรียนว่า ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ของประธาน กสทช. นั้น ย่อมเป็นกรณีที่ประธาน กสทช. เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ประธาน กสทช. จะเสนอชื่อในครั้งนี้ได้เสียเอง

เนื่องจากประธาน กสทช.เป็นผู้ที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกด้วยตนเองทั้งหมด ตั้งแต่การออกประกาศรับสมัคร การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก การดำเนินการคัดเลือก การเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต่อ กสทช. และจะทำการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่ประธาน กสทช. จะทำการเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ด้วย นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์ที่ทำให้กรรมการทั้ง 4 คน เข้าใจว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้ารับการคัดเลือกบางคนตามที่ได้มีหนังสือนำเรียนประธาน กสทช. ไปแล้ว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.