Global Digital Talent Visa นโยบายดึงเด็กนอกสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนไทย
1 ใน 4 ภารกิจเร่งด่วน ที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต้องผลักดันคือ การออก Global Digital Talent Visa หลายคนอาจสงสัยว่านโยบายนี้แตกต่างจาก Smart Visa อย่างไร และนโยบายดังกล่าวคืออะไร "โพสต์ทูเดย์" พร้อมพาเจาะลึกไปด้วยกัน
เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลปีละ 100,000 คน แต่ระบบการศึกษาของไทยผลิตได้เพียงปีละ 30,000 คน ทำให้ธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะกลุ่มโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ไม่สามารถหาแรงงานด้านดิจิทัลได้เทียบเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่
ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายดึงดูดนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัย Top 600 ทั่วโลก ให้สามารถเดินทางเข้ามาหางานในประเทศไทยได้ ผ่านนโยบาย Global Digital Talent Visa
โดยสาขาดิจิทัลที่กำหนดต้องเป็นสาขาที่ขาดแคลนยิ่งยวด เท่านั้น ได้แก่ วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) วิศวกรรมข้อมูล (Data Engineering) วิศวกรรมชอฟต์แวร์(Software Engineering) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ (Robotics) บล็อกเซน (Blockchain) และนวัตกรรมคลาวด์ (Cloud Innovation)
เมื่อนักศึกษากลุ่มเป้าหมายที่จบใหม่เข้ามาในประเทศไทยเพื่อหางานทำ เขาสามารถขอวีซ่าประเภท Global Digital Talent Visa ได้ทันที หากหางานทำได้ก็จะเปลี่ยนเป็น Work Permit ในที่สุด
Global Digital Talent Visa จึงต่างจากวีซ่านักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะนโยบายนี้จะเป็นการดึงคนเก่งจากมหาวิทยาลัย Top 600 ทั่วโลกที่จบด้านดิจิทัลเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งนโยบายรูปแบบนี้ทั้ง ออสเตรเลีย อังกฤษ และไต้หวัน ต่างก็หาวิธีดึงดูดคนดิจิทัลด้วยวิธีการนี้มาแล้ว
เพราะนอกจากจะจูงใจให้แรงงานดิจิทัลที่ขาดแคลนเข้าประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มคนดังกล่าวในประเทศไทยด้วย เนื่องจากเขาเหล่านั้นต้องมีการเปิดบัญชีประมาณ 200,000 บาท กับธนาคารในประเทศไทยเพื่อเป็นเงื่อนไขในการเข้าประเทศ เมื่อเขาเข้ามาอยู่ก็จะมีการซื้อสินค้า เช่าห้องพัก ในระหว่างหางานทำ
นอกจากนี้ Global Digital Talent Visa จะเป็นการอุดช่องโหว่ของ Smart Visa ที่มีอยู่ เนื่องจาก Smart Visa เป็นการให้วีซ่าเพื่อดึงดูดบุคลากรเหมือนกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นบริษัทนิติบุคคล ดังนั้นทำให้ Digital Nomad ที่ทำงานลักษณะฟรีแลนซ์ ไม่ได้รับวีซ่าประเภทนี้
เพื่อตอบสนองนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในครั้งลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีกลุ่ม Digital Nomad จำนวน 5,000-6,000 คน Global Digital Talent Visa อาจจะขยายครอบคลุมถึงกลุ่มนี้ด้วย
สำหรับขั้นตอนที่จะทำให้เกิด Global Digital Talent Visa กระทรวงดีอีเอสต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ,สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง,กรมสรรพากร และธนาคาร จากนั้นจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาทิ ระยะเวลาวีซ่า,คุณสมบัติจบการศึกษาต้องไม่เกินกี่ปี เป็นต้น เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.