คนไทยจ่ายค่าโทร-เน็ต แพงขึ้นหรือไม่ กสทช.นับหนึ่งหาคำตอบ คาดเสร็จ Q1/67
นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า สายงานวิชาการ ของ สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างจัดทำ ดัชนีราคาในกิจการโทรคมนาคมขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ผ่านการศึกษา และจัดทำต้นแบบดัชนี เพื่อหาคำตอบราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งแบบรายเดือน (โพสต์เพด) และแบบเติมเงิน (พรีเพด) รวมถึงราคาอินเทอร์เน็ตบ้าน ที่คนไทยจ่ายอยู่ในปัจจุบัน แพงขึ้นหรือถูกลง
โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลจากแพ็กเกจของผู้ให้บริการ(โอเปอเรเตอร์)ที่มีอยู่บนเว็บไซต์ และ ที่แจ้งเข้ามา รวมถึงข้อมูลการเลือกใช้แพ็กเกจของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อนำมาคำนวณด้วยวิธีทางเทคนิค ให้ได้ค่าดัชนีของค่าบริการออกมา คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 และจะจัดทำในทุกไตรมาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมเข้าสู่การให้บริการแบบหลอมรวม ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อการโทรเพียงอย่างเดียว โดยอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และกลายเป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถจากสถิติจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2565 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 126.4 ล้านเลขหมาย ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประชากรไทยเกือบหนึ่งเท่าตัว
ขณะที่พัฒนาการของเทคโนโลยีมีผลอย่างมากต่อการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในไทยปี 2565 มีจำนวน 13.23 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อจำนวนครัวเรือนอยู่ที่ 56.11 % แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ราคาที่ผู้ประกอบการเก็บค่าบริการจากตนเองนั้นแพงขึ้นหรือถูกลง หากมีราคาแพงแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อผู้บริโภค กลายเป็นต้นทุนของประชาชน สร้างความเหลื่อมล้ำ และสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงสะท้อนให้เห็นในด้านการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมด้วย
ดังนั้น ผลจากการจัดทำดัชนีราคาโทรคมนาคมครั้งนี้ จะสะท้อนให้เห็นผลของการควบรวมกิจการโทรคมนาคม จาก 3 รายใหญ่ของไทยเหลือเพียง 2 ราย ด้วยว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากผลของราคา ที่จะแสดงออกมาให้เห็นจากการแข่งขันของผู้ประกอบการที่เหลือน้อยราย หากผลออกมาว่ามีราคาแพง สำนักงานกสทช. ต้องมีหน้าที่ในการเข้าไปกำกับดูแล
ดัชนีราคาที่ได้ต้องหาจุดเหมาะสมด้วย ทั้งผู้บริโภคที่ต้องได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าบริการ และโอเปอเรเตอร์ยังสามารถทำธุรกิจได้ หากกำหนดราคาต่ำไป จะส่งผลกระทบให้ไม่มีเงินลงทุนขยายโครงข่ายและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ
นายศุภัช กล่าวว่า สำหรับการจัดทำดัชนีราคาโทรคมนาคมจะถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนราคาให้ผู้บริโภคเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าผู้ใช้บริการได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือน และอินเทอร์เน็ตบ้านแพงขึ้นหรือถูกลงจากช่วงที่ผ่านมาอย่างไร เช่น ก่อนและหลังการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการ ระดับราคาขึ้นหรือลงอย่างไร โดยจะแยกให้เห็นภาพของระดับราคา เป็นรายไตรมาส และจะนำผลการศึกษานำเสนอผ่านเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการได้ปรับการเสนอขายบริการ จากเดิมที่แยกราคาต่อหน่วยชัดเจน มาเป็นบริการในลักษณะแพ็กเกจ (bundle) เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าที่หลากหลาย จึงยิ่งทำให้ผู้ใช้บริการพิจารณาได้ยากว่า ราคาที่ใช้อยู่นั้นแพงขึ้น หรือถูกลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนมากขึ้น และในอนาคตจะเพิ่มผลการศึกษาในส่วนของเพย์ ทีวี และโอทีที ด้วย
การออกแบบโครงสร้างดัชนีราคาโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ดัชนีราคาในกิจการโทรคมนาคมของต่างประเทศมีการจัดทำอย่างแพร่หลายเช่นกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนนาดา และออสเตรเลีย เป็นต้น ทว่าในประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำมาก่อน การจัดทำดัชนีราคาโทรคมนาคมครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการจัดทำครั้งแรกของประเทศไทย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.