สดช.รับลูกนโยบาย โก คลาวด์ เฟิร์ส เปิดเอกชนบริการคลาวด์ภาครัฐ
ชงครม.เคาะราคากลางคลาวด์
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาลโดยได้รับการมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คือ นโยบาย โก คลาวด์ เฟิร์ส ด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ให้บริการคลาวด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ไอเน็ต , เอดับบลิวเอส,ไมโครซอฟท์ และ หัวเว่ย เป็นต้น เข้ามาให้บริการคลาวด์
โดยสดช.จะเป็นผู้กำหนดราคากลางของเอกชนกับคลาวด์ 4 ประเภท และความต้องการใช้งานจริงก่อน จากนั้นจะเสนอเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ภาครัฐมีความต้องการใช้คลาวด์อยู่ที่ประมาณ 800,000 วีเอ็ม ทว่าโครงการคลาวด์ภาครัฐยังไม่ตอบโจทย์เรื่องงบประมาณสนับสนุน ทำให้การสร้างคลาวด์ไม่ทันกับความต้องการในการใช้งาน
สำหรับงบประมาณ 3 ปี (2566-2568) ของโครงการคลาวด์ภาครัฐ ตามแผนงานนั้นต้องให้บริการคลาวด์ภาครัฐ 25,000 วีเอ็ม ต้องใช้งบประมาณปีละ 2,200 ล้านบาท แต่ทางสำนักงบประมาณ จัดสรรให้เพียงครึ่งเดียว หรือประมาณ 1,100 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้งบประมาณจากทางกองทุนดีอีสนับสนุนงบอีก 700 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที
นายภุชพงค์ กล่าวว่า การสำรวจความต้องการใช้งานคลาวด์และการกำหนดราคากลางต้องแบ่งตามประเภทการใช้งานคลาวด์ 4 ประเภท ได้แก่ 1.คลาวด์เพื่อความมั่นคงของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) 2.คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลภาครัฐและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสร้างบริการต่อประชาชนได้ 3.คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลแบบสตอเรจ และ 4. คลาวด์สำหรับข้อมูลที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง
เปิดนโยบายปี 67 เดินหน้า 7 โครงการ
นายภุชพงค์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายปี 2567 สดช. มี 7 โครงการสำคัญที่เตรียมขยายผลและต่อยอดโครงการต่างๆ ที่วางไว้ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และระบบคลาวด์กลางสาธารณสุขของประเทศ ต่อยอดการให้บริการคลาวด์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บริการสำหรับระบบงานขั้นสูง บริการสำหรับการจัดเก็บข้อมูลสำคัญของหน่วยงาน, เพิ่มบริการบน GDCC Marketplace ไม่น้อยกว่า 10 บริการ, พัฒนาการใช้งานในรูปแบบ Hybrid Cloud ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานระดับ Ministry Cloud และ Agency Cloud เช่น คลาวด์ด้านสุขภาพ, ร่วมมือกับผู้ให้บริการภาคเอกชนในการฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐ ที่ใช้บริการ GDCC ให้มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิค ในการบริหารจัดการระบบคลาวด์ และด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ปีละไม่น้อยกว่า 200 คน พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลภาครัฐและจัดทำข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ของหน่วยงานที่ใช้บริการ GDCC รวมถึงส่งเสริมการใช้บริการให้กับหน่วยงานภาครัฐ
2. โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อให้หน่วยบริการสุขภาพสามารถให้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตรฐาน สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการวินิจฉัย วางแผนการรักษาเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อช่วยให้ยกระดับคุณภาพการให้บริการสุขภาพ สนับสนุนให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ในรูปแบบ Software as a Service อย่างมีมาตรฐาน และมีความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ผู้รักษาสามารถดูข้อมูลคนไข้ เพื่อให้การรักษาชีวิตของคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว
3.โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Contribution to GDP) ประจำปี พ.ศ. 2567 มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ผ่านการปรับปรุงรูปแบบ (Framework) การวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเพิ่มความครอบคลุมของนิยามของเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพยากรณ์มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตผ่านการใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium (CGE) model) ภายใต้หลักเศรษฐมิติ (Econometrics) เพื่อระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลสอดคล้องตามเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2570
4.โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ปี 2567 ซึ่งจะดำเนินการจัดเก็บและสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ 2567 โดยใช้แนวทางในการจัดเก็บตัวชี้วัดของ OECD และตามบริบทของการพัฒนาประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่จัดเก็บและสำรวจได้มาวิเคราะห์ในมิติที่สำคัญ ในการนำไปสู่การเสนอแนวทางในการพัฒนานโยบายด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางและมีเป้าหมายที่ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญ
5.โครงการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชน และการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ขยายการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศูนย์ ICT ชุมชน เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมีการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ พร้อมพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยขยายผลจากความพร้อมด้านการเข้าถึงดิจิทัล การมีอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชน/ศูนย์ดิจิทัลชุมชน สู่การปั้นคนดิจิทัลในระดับพื้นที่ โครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล หรือ อสด. เพื่อเป็นผู้ช่วยขยายการเข้าถึงการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พัฒนาทักษะประชากร ภายใต้กรอบสมรรถนะดิจิทัล และช่วยส่งเสริมเพิ่มโอกาสสร้างรายได้สู่พื้นที่ระดับชุมชน ซึ่งได้ทำความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) กลุ่มสภานักเรียนต่างๆ และเจ้าหน้าที่พัฒนาความรู้ของกรมราชทัณฑ์ ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 1 แสนคนทั่วประเทศ เข้ามารับการอบรมเป็น อสด. เพื่อที่จะช่วยขยายเครือข่ายเพิ่ม ในอัตรา อสด. 1 คน ต่อการสร้าง อสด.เพิ่มอีก 4 คน ซึ่งจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดิจิทัลต่างๆ
6.โครงการ Digital Cultural Heritage หรือโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล โดยการผลักดัน Soft Power ของประเทศไทยในมิติของการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สื่อมัลติมีเดีย AR VR แอปพลิเคชัน เกม หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ เป็นต้น โดยการนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือสิ่งที่อยู่รอบตัวมาสร้างมูลค่าให้เข้ากับยุคสมัย ให้เข้าใจได้ง่าย และเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการสร้างเครือข่ายในการส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำมาตรการ หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม ให้เกิด Soft Power ที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ
7.กองทุนดีอี ในปี 2567 จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกองทุน ด้วยการปรับปรุงระบบสารสนเทศสนับสนุนการทํางานในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะและการสร้างความเชี่ยวชาญในการทํางานบุคลากรของกองทุน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.