ทีเส็บ ดันไทยหมุดหมายภูมิภาคงานแสดงสินค้านานาชาติ ทำเงินเข้าไทย 7,425 ล้าน

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า “การจัด Exhibition Industry Summit 2024 นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ระดับผู้นำซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจของบริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติยักษ์ใหญ่จากยุโรปและเอเชียได้มารวมตัวกัน ได้รับฟังวิสัยทัศน์ ข้อมูลเชิงลึก และทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการจัดงานสินค้านานาชาติโดยตรงจากผู้นำและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจระดับสูงของไทย
 

จึงมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่จัดงานในอนาคตของผู้จัดงานขนาดใหญ่ระดับโลก และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความมั่นใจว่า ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับจัดงานแสดงสินค้า การทำธุรกิจที่เน้นการพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ นอกจากนี้ เรายังได้รับข้อเสนอแนะในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติเติบโตได้รวดเร็ว สอดรับกับความต้องการของตลาดโลก” นายจิรุตถ์กล่าว 

หลังจากนั้น คณะฯ ได้ร่วมการประชุมโต๊ะกลมกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไทย เพื่อหารือประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยผู้แทนภาครัฐของไทยแสดงความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และดึงดูดนักลงทุนเข้ามามากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาของธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่อง ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ประเทศคิดเป็นร้อยละ 12 ของ GDP  

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับฟังข้อมูลที่น่าสนใจของประเทศไทย ทั้งในด้านศักยภาพของประเทศ  ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมีศักยภาพ และแนวโน้มทิศทางของอุตสาหกรรมการจัดการแสดงสินค้านานาชาติ ในการบรรยายเรื่อง Shaping Thailand’s Future in the Global Value Chain" 

โดยผู้แทนจาก International Financial Corporation และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  การเสวนาเรื่อง "Thailand’s Economic Potential and Integration into ASEAN: Future Frontiers" โดยผู้นำจาก 3 ธุรกิจที่เป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ ธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ฟินเทคและเทคโนโลยี และยานยนต์ และการเสวนาเรื่อง "Exhibition Industry Strengths and Emerging Trends" โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการจัดการแสดงสินค้านานาชาติ

ทั้งนี้ผู้นำอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ได้ชี้ให้เห็นเทรนด์และโอกาสสำคัญ 3 เรื่องที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

  • ประการแรก การบริการที่ตรงตามความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Customised Service) สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ สอดคล้องกับเทรนด์ใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน คือ การสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งผู้จัดงานต้องคำนึงถึงและจัดสิ่งอำนวยความสะดวก บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานยังคงใช้ชีวิตปกติขณะมาร่วมงานได้  
  • ประการที่ 2 คือ การใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย เช่น การจัดการฐานข้อมูลใหญ่ๆ การแปลคอนเทนต์เป็นภาษาต่างๆ  
  • ประการที่ 3 คือ การเลือกสถานที่จัดงานซึ่งนอกจากจะมีความพร้อมแล้วยังต้องทำให้ผู้เข้าร่วมงานประทับใจ รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับที่ดี ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม มีกิจกรรมนอกโรงแรมให้ทำ และที่สำคัญคือวัฒนธรรมการต้อนรับของไทยที่ทำให้นักเดินทางประทับใจ

นอกจากนี้ในการจัดงานครั้งนี้ ทีเส็บ ยังได้นำเสนอภาพประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางมูลค่าสูงแห่งเอเชีย (High-Value Added Destination) โดยใช้แนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ 

การเดินทางด้วยรถยนต์ไฮบริดและเรือพลังงานไฟฟ้า 

การรังสรรค์เมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและชุมชน 

สมุนไพรที่ทางโรงแรมปลูกเองและใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า เพื่อลดของเหลือใช้จากการปรุงอาหาร รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสกับวัฒนธรรมไทยในทุกมิติ อาทิ ปรุงอาหารรสชาติแบบไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น โขน และหุ่นละครเล็ก ที่ผู้เข้าร่วมงานมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นธุรกิจกับความเป็นไทยได้อย่างลงตัว 
    
ทีเส็บคาดว่า การจัดงาน Exhibition Industry Summit 2024  จะส่งผลให้สามารถดึงงานใหม่ๆ เข้ามาจัดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 60 งานตลอดระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2568 - 2570) สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นมูลค่า 7,425 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากต่างประเทศและในประเทศรวมประมาณ 426,000 คน  และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากนักเดินทางที่มาร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยรวมประมาณ 11,649 ล้านบาท
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.