SCB ผนึก 2 พันธมิตร “คาเคาแบงก์-วีแบงก์” เล็งขยาย Virtual Bank สู่ต่างประเทศ
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยในงาน ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ซึ่งจัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ “Financial Opportunities & Future” ว่า SCB มองโอกาสในอาเซียน และนอกอาเซียน เป็น 3 Tier ได้แก่ Tier 1 ประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่ง SCB ได้มีการลงทุนเข้าไปแล้ว
ส่วน Tier 2 ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากจะมีบทบาทในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ Tier 3 ประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยี จับมือเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ และฟินเทค เพื่อนำมาสร้างธุรกิจในอาเซียน
ทั้งนี้ SCB สนใจลงทุนในอาเซียน เนื่องจากอาเซียนเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง อันดับต้นๆ ของโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตประมาณ 4.7% ในปี 2030 การเติบโตเป็นรองแค่ประเทศอินเดียเท่านั้น ขณะที่ Penetration Rate ในส่วนของ Banking ในอาเซียนยังต่ำ
สำหรับแนวทางที่ SCB ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ และฟินเทค ในประเทศเป้าหมายดังกล่าว โดยลงทุนเจาะกลุ่มผู้ที่ไม่เคยได้รับบริการ (Unbanked) ผู้ที่ได้รับบริการแต่ไม่ครอบคลุม (Underbanked) และ Small SME เพื่อลดความเสี่ยงที่จะใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับมองว่าเซกเมนต์ Banking มีผู้ให้บริการท้องถิ่นที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว
“ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มีหนี้สูง ทำให้ถ่วงเศรษฐกิจไทย ปัจจัยนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราแสวงหาโอกาสเติบโตนอกประเทศไทย โดยยุทธศาสตร์ที่มองนั้น เราไม่ได้โฟกัสด้าน Banking เพราะมีเจ้าถิ่นที่แข็งแรงอยู่แล้ว ขณะที่เจ้าถิ่นจะให้น้ำหนักกับ Small SME น้อยกว่า และไม่แข็งแรงเท่ากับ Banking รวมทั้งธุรกิจการเงินมีต้นทุนประมาณ 40% ของรายได้ ส่วนฟินเทค มีต้นทุน 20% ของรายได้ เราจึงโฟกัสในส่วนนี้” นายอาทิตย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ ต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่ซับซ้อน ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมขององค์กร
นอกจากนี้ SCB ผนึกพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ คาเคาแบงก์ (KakaoBank) จากเกาหลีใต้ และ วีแบงก์ (WeBank) จากจีน จะนำ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank แสวงหาโอกาสนอกจากประเทศไทยอีกด้วย ทำให้ SCB สามารถแข่งขันได้นอกเวทีประเทศไทย
ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะต้องมีแนวความคิดที่จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจอื่นๆ ของไทย นอกเหนือจากธุรกิจการเงิน ให้สามารถออกไปเก็บเกี่ยวโอกาสในอาเซียน โดยไม่ปล่อยให้ออกไปเพียงลําพัง ภาครัฐจะต้องเป็นกองหนุนให้เอกชนสร้างโอกาสในอาเซียน นอกจากในประเทศไทย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.