กลุ่มผู้เสียหายคดี STARK ลุ้น ศาลฯนัดสืบพยาน 6-8 พ.ย.นี้
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณี "บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK" โดยมีการแถลงข่าวร่วมกันของ 11 องค์กร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สนับสนุนให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุนรายบุคคลที่ลงทุนในหุ้นสามัญ (กรณีหุ้นกู้ มีตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว) ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)
ในการนี้ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยจึงทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญตามกระบวนการยุติธรรมให้บังเกิดผล โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งการดำเนินการของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ดังนี้คือ
1. เปิดระบบออนไลน์ลงทะเบียนผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-25 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายเข้ามาลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,039 ล้านบาท
2. เชิญประชุมผู้เสียหายที่ลงทะเบียน ในข้อ 1 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เสียหายคัดเลือก “โจทก์ตัวแทนผู้เสียหาย”
3. เปิดระบบออนไลน์ ลงทะเบียนผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK รอบที่ 2 ระหว่าง 17-30 เมษายน 2567 มีผู้เสียหาย เข้ามาลงทะเบียน จำนวน 1,207 ราย
การดำเนินคดีแบบกลุ่ม
วันที่ 6 มิถุนายน 2567 โจทก์ตัวแทนผู้เสียหาย (โจทก์ฯ) กลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ได้ยื่นฟ้อง STARK บริษัทในเครือ และกรรมการที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวม 10 ราย เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และโจทก์ฯได้ประสานงานกับสมาคมฯ เพื่อขอให้แจ้งข่าวสารแก่ผู้เสียหายรายอื่นๆด้วย
การฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีแพ่งฐานละเมิดและการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อเรียกค่าเสียหาย และขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เพื่อให้ผลของคำพิพากษาครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนในหุ้นสามัญรายอื่นๆด้วย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. ขอบเขตของสมาชิกกลุ่มผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ คือ เป็นบุคคลที่เข้าซื้อหรือขายหุ้นสามัญของ STARK ในช่วงระยะเวลาแห่งความเสียหาย (Class Period) กล่าวคือ ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 - วันที่ 16 มิถุนายน 2566 (ช่วงที่มีการเผยแพร่งบการเงินเท็จของ STARK)
2. การเข้าซื้อหุ้น ในข้อ 1 สามารถแบ่งประเภทผู้เสียหายออกเป็น 3 กลุ่มย่อย (Sub-Class) ได้แก่ 1. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และยังถือหุ้นอยู่ หรือ 2. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และขายหุ้นออกบางส่วน 3. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และขายหุ้นออกแล้วทั้งหมด
3. การเรียกค่าเสียหายเป็นการเรียกค่าเสียหายโดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ซื้อขายกับราคาหุ้นที่แท้จริงของ STARK ที่ควรจะเป็นหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินเท็จ ซึ่งหลักในการคำนวณค่าเสียหายดังกล่าวสามารถปรับใช้กับผู้เสียหายทุกกลุ่มย่อยตามข้อ 2 ได้
4. หากท่านเป็นผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญตาม ข้อ 1 และ ข้อ 2 ข้างต้น ทุกท่านได้ถูกนับรวมอยู่ในสมาชิกกลุ่มของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม Class Action และหากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มก็จะส่งผลให้ทั้งโจทก์ฯ และสมาชิกกลุ่มมีผลทางคดีร่วมกัน
ความคืบหน้าคดี
อย่างไรก็ดี วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โจทก์ฯได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567
และ ศาลนัดสืบพยานในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในวันที่ 6 - 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 -16. 30 น.
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.