เทียบบทบาทบล็อกเชนกับแอปเป๋าตังต่อเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่างกันอย่างไร
แม้ยังไม่ชัดเจนว่าโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทที่จะแจกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จะถึงมือประชาชนด้วยกระบวนเช่นไรหรือมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แต่ก็เริ่มมีเสียงแตกว่าทำไมไม่เลือกแอปเป๋าตังแทนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกับการใช้งานและผ่านการยืนยันตัวตนกันไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าที่ต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ก็เพื่อเป็นการปูพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และสร้างเทคโนโลยีบล็อกเชนสัญชาติไทย สำหรับใช้งานด้านอื่น ๆ ในอนาคต แม้ประชาชนจะต้องมีการโหลดแอพพลิเคชั่น ซึ่งคือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะเป็นซุปเปอร์แอปฯ ของรัฐบาลมาเพื่อใช้งานก็ตาม
แต่สุดท้ายไม่ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไร หลายคนก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้ว "บล็อกเชน" ที่ว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับดิจิทัล วอลเล็ตในแง่มุมไหน สำคัญอย่างไร แล้วทำไมต้องมีด้วย
ทั้งนี้จากมุมมองของนายภูริเชษฐ์ เทพดุสิต Director of Bluebik Nexus (บริษัทในเครือ บมจ.บลูบิค กรุ๊ป หรือ Bluebik) ได้ขยายความถึงบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชนต่อระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ว่า หากอธิบายแบบง่าย ๆ คือ บล็อกเชนเป็น database สำหรับเก็บข้อมูลนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากใช้ในบริบทของเงินดิจิทัล ควรใช้บล็อกเชนเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลในการเก็บข้อมูลว่าผู้ใช้มียอดเงินคงเหลือเท่าไหร่ (account balance) และบันทึกประวัติการทำธุรกรรมของผู้ใช้ว่าใช้เงินไปที่ไหนและเมื่อไหร่ (transaction history)
ทั้งนี้ แน่นอนว่าการใช้บล็อกเชนเป็นกระเป๋าเงินมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบกับใช้ระบบ database ธรรมดา โดยนายภูริเชษฐ์ ได้สรุปเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นดังนี้
1. Technology Enables
ข้อดีของบล็อกเชน คือเป็นเทคโนโลยีที่เน้นความปลอดภัยและโปร่งใส ทำให้การโกงเป็นเรื่องยาก นั่นเป็นผลมาจากความสามารถในการเขียนโปรแกรมเงินดิจิทัลบนสมาร์ทคอนแทร็กท์ ซึ่งทำได้ค่อนข้างง่ายและสามารถตรวจสอบได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลปกติ
แต่สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดคือเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก็คือ node (หรือ validator หรือ server) ที่จะมารัน Blockchain network
นั่นคือ ตามหลักการของบล็อกเชน การรัน node จะต้องเป็นแบบ Decentralized เพื่อความปลอดภัยของระบบสูงสุด และยังเพื่อป้องกันการโจมตี ซึ่งหากจะทำ Decentralized ได้นั้น คือในระบบต้องมีจำนวน node มากระดับหนึ่ง จึงจะป้องกันการโจมตีแบบ 51% ได้ เช่นเดียวกับระบบ Public Blockchain ได้แก่ Bitcoin และ Ethereum ซึ่งมีหลายหมื่น Node รันกระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วโลก
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับระบบที่ไม่ใช้บล็อกเชน เช่น แอปเป๋าตัง ที่อาจจะมี node สูงสุดที่รันเพียงไม่กี่สิบ node ในระบบเท่านั้น
ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลต้องการใช้บล็อกเชนสำหรับเงินดิจิทัล ควรพิจารณาใช้ Private Blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยระบบยังคงมีความปลอดภัยเหมือนเดิม นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนในการก่อตั้ง Blockchain Network และต้องมี Governance Committee จากแต่ละหน่วยงานร่วมตัดสินใจและตรวจสอบได้
แนวทางนี้คล้ายกับ Public Blockchain ที่มีกระบวนการในการคัดเลือก node ตัวอย่างเช่น Binance Chain ที่มีการคัดเลือกบริษัทต่าง ๆ เพื่อรัน node ในระบบ ไม่ต้องรัน node เองทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าการใช้บล็อกเชนจะมีขั้นตอนเพิ่มเติมในการจัดตั้งเครือข่าย และการบริหารระบบที่แตกต่างออกไปจากระบบธรรมดาทั่วไปที่มีแค่หน่วยงานเดียว ซึ่งการดำเนินการนี้จะใช้เวลาและทรัพยากรมากกว่า แต่ก็ทำให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น และตรวจสอบได้มากขึ้นด้วย
2. Usability and User Experience
การใช้งาน (Usability) ของระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้น มีความแตกต่างกันน้อยมากในมุมมองของผู้ใช้งาน
ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและลงทะเบียน เพื่อเข้าใช้งานระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ ซึ่งสามารถนำแอพพลิเคชั่นไปใช้จ่ายตามร้านค้าที่รัฐบาลกำหนดได้ และยังสามารถดูยอดเงินและประวัติการใช้จ่ายได้อย่างปกติ
จุดเด่นอีกอย่างของบล็อกเชนคือการป้องกัน Double spending ดังนั้นการใช้งานไม่ควรเจอปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายเงินแล้วเงินไม่ลดหรือหักยอดเกิน
ในเชิงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน หรือ User experience ก็มีสิ่งที่แตกต่างจากระบบที่ไม่ใช้บล็อกเชน คือ เรื่องค่าธรรมเนียม (Gas Fee) ที่ผู้ใช้งานต้องเป็นคนจ่ายให้กับระบบทุกครั้งที่มีการทำรายการ เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าในการดำเนินการทุกครั้งเมื่อมีการทำธุรกรรม เนื่องจากมีการ Block time ที่ต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลลงในระบบบล็อกเชน ยกตัวอย่างเช่น Binance Chain มี Block time ที่ 5 วินาที ซึ่งหมายความว่าในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 วินาที หรือมากกว่านั้นถ้ามีการใช้งานระบบจำนวนมาก เพื่อให้ระบบบล็อกเชนบันทึกข้อมูลในระบบ จึงทำให้มีความแตกต่างจากระบบที่ไม่ใช้บล็อกเชนที่ใช้เวลาไม่กี่วินาที
มาถึงตรงนี้คงเริ่มเห็นภาพ (มาก) ขึ้นบ้างแล้วว่า บล็อกเชนมีบทบาทและสำคัญอย่างไรต่อโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่หวังว่าจะส่งตรงสู่ประชาชนตามที่ท่านนายกฯ เศรษฐารับปากไว้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.