“คลัง” เล็งดัน 2 มาตรการหนุนไทยลงทุนธุรกิจสีเขียว

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา ในงาน FPO Symposium 2024 "Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว" ว่า ปัจจุบันพบว่า ภาคธุรกิจของไทยมีการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวซึ่งเป็นเทรนสำคัญของโลกค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน และสร้างจูงใจ ผ่านเครื่องมือที่กระทรวงการคลังมีอยู่ ทั้งมาตรการทางการเงินผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และมาตรการทางภาษี โดยในส่วนของมาตรการจูงใจด้านภาษี ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของครม.

 

ทั้งนี้ หากพูดถึง ความสําคัญของ Fiscal GreenPrint ที่หมายถึงการบอกบ่งบอกถึงทิศทางของประเทศว่าเราจะใช้นโยบายทางการคลังแบบไหนที่จะทําให้ประเทศก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว คําว่าเศรษฐกิจสีเขียวอาจไม่ได้เรียกว่า เป็นความจําเป็น แต่ผมเรียกมันว่า เป็นความอยู่รอดไม่ทํา คืออยู่ไม่รอด ถ้าทําดีอาจจะอยู่รอด ซึ่งความอยู่รอดมันแบ่งเป็นสองด้าน 

 

ด้านแรก คือ มิติความอยู่รอดทางด้านชีวิตและสุขภาพ ซึ่งทุกคนทราบกันดีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่สภาวะแวดล้อม เช่น อากาศ น้ำ มีปัญหา  สุขภาพของเราก็จะทรุดโทรมลงไปแล้วไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี หากปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆโดยที่เราไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นเราต้องเดินไปเพื่อที่จะทําให้เราชีวิตและสุขภาพเราอยู่รอดได้ 

ด้านที่สอง คือ มิติของการอยู่รอดทางด้านธุรกิจ หากมองเพียงผิวเผินปัญหาชีวิตและสุขภาพไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจได้ แต่ความจริงแล้วในโลกในปัจจุบันโลกผูกสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ธุรกิจนำเอาสิ่งที่เป็นความจําเป็นทางด้านสุขภาพมาผูกกับเรื่องของการทําธุรกิจและสร้างเป็นเงื่อนไขในการทําธุรกิจ สิ่งๆนี้กําลังจะเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันเราจะเห็นมาตรการด้านกีดกันการค้าที่ใช้เนื้อหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมาผูกกับการทําธุรกิจ เราเห็นเรื่องของ CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป และมาตรการด้านภาษีต่างๆ ที่จะทําให้สินค้าและบริการที่ไม่ตอบสนองโลกสีเขียวนั้นแพงขึ้นแข่งขันได้ยากขึ้นและมีคนใช้น้อยลง หมายความว่าถ้าธุรกิจไหนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ธุรกิจไหนทําลายโลก ตรงข้ามกับธุรกิจสีเขียว จะแข่งขันไม่ได้ การแข่งขันจะแพงขึ้นไม่สามารถสู้กับต้นทุนที่แพงขึ้นได้ ธุรกิจนั้นก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ และล้มตายในที่สุด” นายเผ่าภูมิ กล่าว

 

ดังนั้นจะเห็นว่า ทั้งในมิติของภาคประชาชนที่จะต้องปรับตัว และในมิติของธุรกิจที่จะต้องปรับตัวไปสู่โลกสีเขียว นั่นคือ ภาวะบังคับไม่ใช่ภาวะสมัครใจ และจึงเป็นที่มาว่าทําไมวันนี้สํานักงานเศรษฐกิจการคลังจึงได้จัดสัมมนาวิชาการในวันนี้

ทั้งนี้ ในมิติของภาครัฐ ซึ่งมีนโยบายทางการคลังอยู่ในมือ และเรามีนโยบายทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จึงต้องเข้ามาสนับสนุน สร้างแรงจูงในให้กับภาคธุรกิจ ไม่สามารถปล่อยให้เอกชนปรับตัวไปเองโดยที่รัฐไม่ทำอะไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ธุรกิจในประเทศไทยปรับตัวได้ช้ากว่าคนอื่น เมื่อปรับตัวได้ช้า จึงไม่สามารถแข่งขันได้ตามมาด้วยธุรกิจล้มตาย เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสนับสนุนหรือผลักดันหรือใช้มาตรการที่เป็นแรงจูงใจทําให้ภาคเอกชนนั้นสามารถก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้

 

ในส่วนของสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง มีมาตรการหลักๆ อยู่สองเรื่อง ได้แก่ มาตรการทางด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และมาตรการทางด้านที่เกี่ยวข้องกับภาษีซึ่งวันนี้น่าจะมีการที่จะหารือกันในรายละเอียด ว่าจะนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น ควรมีมาตรการสนับสนุนออกมาในลักษณะใด

“มันมีตัวเลขนึง ที่ทางมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้คํานวณออกมาว่าอีก 70 ปีต่อจากนี้ ถ้าโลกหรือธุรกิจ หรือประเทศไหน ไม่ได้ทําอะไร แล้วเดินเข้าไปสู่ความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นคือจีดีพีหายไป 23% ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ฟังแล้วน่าตกใจ ที่สิ่งที่สําคัญกว่านั้น คือประเทศที่มีปัญหามันไม่ใช่ประเทศใหญ่ๆครับ แต่มันเป็นประเทศกําลังพัฒนาซึ่งไม่สามารถปรับตัวได้ทันประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว นั่นคือเหยื่อของการพัฒนาไม่ทัน” นายเผ่าภูมิ กล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของมาตราการทางด้านการเงินที่คลังได้ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ในเกือบทุกสถาบันการเงินของรัฐ ได้มีมาตรการที่เข้าไปส่งเสริมช่วยการปรับตัวของภาคเอกชนสู่เศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งต้องชื่นชมว่า เป็นสถาบันการเงินที่โดดเด่นทางด้านมีผลิตภัณฑ์มีโครงการ ที่เข้าไปช่วยเอกชนในการสนับสนุนเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว 

 

หากเข้าไปดูพอร์ตสินเชื่อของเขาพอร์ตที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(กรีนบลู) ทั้งบนบกและในทะเลตอนนี้มีถึง 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของสถาบันการเงินทั้งประเทศ ไม่น่าเชื่อว่าสถาบันการเงินของรัฐจะสามารถแซงสถาบันการเงินของภาคเอกชนในเรื่องของการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และยังมีมาตรการอื่นๆด้วย สะท้อนว่าเป็นสถาบันการเงินที่ตื่นตัวตื่นรู้ต่อภาวะโรคสีเขียวนี้ ขณะที่ธนาคารอื่นก็ได้ดําเนินการเช่นเดียวกัน อาทิ ธนาคารออมสินก็มีเรื่องของสินเชื่อต่างๆที่จะไปสนับสนุนภาคเอกชนในการปรับตัวในการเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ที่หนุนปรับตัวเข้าไปสู่เรื่องของอีวี

 

ในส่วนของมาตราการทางด้านภาษี สศค.ได้ให้ความสําคัญด้านสร้างแรงจูงใจใครรักโลกจ่ายน้อยกว่า ใครที่ทําลายโลกคนนั้น ก็ต้องจ่ายมากกว่า ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นตามอําเภอใจ ไม่เช่นนั้นธุรกิจขนาดใหญ่เขาก้าวไปสู่โลกสีเขียวได้แล้ว เขาก็จะเป็นผู้อยู่รอด แต่เอสเอ็มอีปัจจุบันไม่มีแรง ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ปรับตัวไม่ทันเสร็จกลายเป็นผู้ล้มตาย 

“ทุกภาคส่วนจะได้แลกเปลี่ยนกัน ภาครัฐแลกเปลี่ยนกับภาคเอกชน แลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินแลกเปลี่ยนกับประชาชนผู้บริโภค เมื่อแลกเปลี่ยนแล้วได้ข้อสรุปได้ออกมาเป็นนโยบายออกมาเป็นมาตรการทางการคลัง ในการที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศที่อยู่รอดทั้งในมิติของชีวิตอยู่รอดทั้งในมิติของสุขภาพและอยู่รอดทั้งในมิติของธุรกิจ โดยเราต้องปรับตัวให้ได้ก่อนคนอื่น แล้วเราก็จะกลายเป็นผู้นําให้ได้เมื่อถึงเวลาอันสมควร”นาย เผ่าภูมิ กล่าว
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.