นักวิชาการ หนุนรัฐบาลใหม่ แบ่งงบเงินดิจิทัล กระตุ้นการลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจ

ถือเป็นสัญญาณอันตราย หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยถึงตัวเลขการลงทุนรวมของไทยในไตรมาส 2/67 พบว่า หดตัวอยู่ที่ 6.2% ต่อเนื่อง 3 ไตรมาส โดยฉพาะการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 6.8%  ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 4.3% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 ซึ่งอาจซ้ำเติมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จากปัจจุบันที่จีดีพีของไทยในขณะนี้ เติบโตต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่แล้ว 

 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้สะท้อนถึงปัญหาดังกล่าวว่า กับสำนักข่าวโพสทูเดย์ว่า ตัวเลขการลงทุนมี 2 ส่วนที่ซ้อนกันอยู่ ส่วนแรก คือ การลงทุนในภาพใหญ่ที่โดยเฉลี่ยแล้วสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี จะอยู่ในช่วงประมาณ 25-28% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้ในระดับปานกลาง ไม่สูงไม่ต่ำเกินไปในระดับโลก ภาพใหญ่ที่น่ากังวลใจ คือ หากอยากจะให้การเจริญเติบโตได้ดี แบบประเทศเกาหลี หรือ จีน จะพบว่า การลงทุนโดยเฉลี่ยต่อจีดีพีจะต้องสูงมากๆ ระดับ 30-40% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแปลว่าไทยต้องมี “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ”ใหม่ ก็คือ สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการลงทุนแบบก้าวกระโดด เช่น มาเลเซียที่สามารถดึงเอากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปได้ ก็ทำให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ 
 

ส่วนที่สองเป็นภาพย่อยที่การลงทุนใน 2-3 ไตรมาส หลังสุดติดลบติดต่อกัน จึงเป็นปัญหาระยะสั้น ที่บางส่วนเป็นผลมาจากภาพใหญ่ แต่บางส่วนก็มาจากการขาดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้า ซึ่งถ้ามีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผลักดันการเบิกจ่ายภาครัฐก็จะช่วยได้บางส่วน แต่ที่สำคัญคือ การลงทุนของภาครัฐบางส่วนขาดประสิทธิผลในการต่อยอดไปสู่การลงทุนภาคเอกชน 

“ภาครัฐของไทยมีแผนการลงทุนภาครัฐเยอะแยะไปหมด และวางแผนล่วงหน้าไปไกลด้วย แต่ไม่เคยไปวัดกันจริงๆจังๆ ว่าผลกระทบในระยะยาวมันส่งผลดีขนาดไหน ตัวไหนดี ตัวไหนไม่ดี กลายเป็นลงทุนไปแล้วส่งผลแค่แปปเดียว คือ ตอนที่รื้อถอน ก่อสร้าง ซ่อมสร้าง แต่ไม่เกิดผลระยะยาว ซึ่งตรงนี้ถ้าจะแก้ไขก็ต้องศึกษาผลงานในอดีต แล้วนำมาเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขในอนาคต” ดร.นณริฏ กล่าว

ส่วนที่ สศช.เสนอให้ภาครัฐ ปรับจาการเน้นลงทุนขนาดใหญ่ หันไปลุงทุนในพื้นที่ขนาดเล็กตามพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้เกิดการรับเหมา ลงทุน กระจายเม็ดเงินในระดับจังหวัดที่มากขึ้น พร้อมเสนอให้ดึงงบบางส่วนจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต มาใช้ลงทุนในส่วนนี้ เพื่อช่วยดึงการลงทุนด้วยนั้้น ดร.นณริฏ มองว่า การดึงเอาเงินดิจิทัล มาเป็นงบลงทุนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า เพราะเป็นส่วนผสมของทั้ง การกระตุ้นระยะสั้น และการลงทุนระยะยาว

“ แต่อยากให้เน้นเรื่องของปัญหาการลงทุนภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพในการต่อยอดไปจูงใจให้เกิดลงทุนภาคเอกชน ถ้าไม่แก้ตรงนี้เงินที่ลงทุนตามที่ สศค. เสนอก็จะได้ผลแค่ในระยะสั้นไม่ต่างจากแจกเงินดิจิทัล” ดร.นณริฏ กล่าว

ส่วนที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคนั้น มองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะขึ้นกับระดับการพัฒนาประเทศยิ่งระดับการพัฒนาน้อยยิ่งโตเร็ว ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะโตช้ากว่า อย่างไรก็ดี ในประเทศกลุ่มเดียวกันก็มักจะแบ่งได้เป็นประเทศที่โตเร็ว โตปานกลาง และโตช้าเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทย จะอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่มีการเติบโตเร็วแบบปานกลาง ในขณะที่จีนกับมาเลเซียจะอยู่ในประเทศกลุ่มเดียวกัน แต่อยู่ในกลุ่มประเทศโตเร็ว 

 

ในอาเซียน เวียดนาม อินโดนิเชีย ฟิลิปปินส์ อยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่ำกว่าของเรา จึงไม่แปลกที่จะมีการเติบโตที่สูงกว่า แต่กระนั้นต้องไปดูว่า ตอนที่วิ่งเข้ามาใกล้ไทยแล้วยังคงโตได้เร็วหรือไม่ นั่นคือ จะเทียบการเติบโตแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ เพราะว่าอยู่กันคนละกลุ่ม เหมือนบอลอยู่คนละดิวิชั่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวียดนาม กับอินโดนิเชียในตอนนี้เติบโตได้ไวเหมือนไทยในอดีต เป็นที่น่าจับตามาก แต่พอขึ้นมาเป็นน้องใหม่ในกลุ่มเดียวกัน จะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ถึงจะมาดูกันได้ว่าจะไปได้ไกลขนาดไหน แต่ก็ต้องรออีกน่าจะเป็น 10 ปีถึงจะขึ้นมาในกลุ่มระดับการพัฒนาเดียวกันกับไทยได้

 

ส่วนมาเลเซียกับจีน ต้องยอมรับว่าโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเขาดีกว่า จีนมีความเข้มแข็งมากจนแม้แต่สหรัฐฯยังเกรงกลัวจึงไม่น่าแปลกใจมาก แต่มาเลเซียที่ดูเข้มแข็งก็เพราะว่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความสามารถในการออกนโยบายอุตสาหกรมใหม่ๆ ที่ดึงดูดการลงทุน และมีการยอมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคบริการได้กว้างกว่าไทย

 

หากถามว่า จะแก้ไขอย่างไร ให้ช่วยดึงเศรษฐกิจไทยกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้ นั้น ณ ตอนนี้ จุดขายของไทยที่พอไปได้ คือ ภาคท่องเที่ยว กับ ภาคส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมของไทยที่มีความเข้มแข็ง เช่น อาหาร บริการสุขภาพ รวมไปถึงการผลักดันอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการในโลก คือ รถ EV อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ อุตสาหกรรม BCG น่าจะหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มาก

 

อย่างไรก็ตาม มองแนวโน้มภาวะการลงทุนและภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป หรือปี 2568 น่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะบางส่วนที่ภาวะการลงทุนติดลบ เพราะว่าขาดมาตรการกระตุ้นและการเบิกจ่ายงบภาครัฐที่ล่าช้า ซึ่งน่าจะคลี่คลายไปได้เรื่อยๆตอนนี้ แต่ก็ไม่ถือว่า เป็นการฟื้นตัวที่โดดเด่นถ้าภาครัฐไม่สามารถผลักดัน และแก้ไขในสิ่งที่กล่าวถึงข้างต้นได้

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.