ส่อง ธปท. ยืดชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% ถึงสิ้นปี 68 หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) ของบัตรเครดิต 2.การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย (Debt Consolidation) 3.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ทั้งนี้ หนึ่งในมาตรการดังกล่าวที่น่าสนใจ คือ การผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) ของบัตรเครดิต โดย ธปท. ผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต กำหนดให้ยังคงอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 

นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก และ 0.25% สำหรับครึ่งปีหลังของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง

ขณะที่ลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ 5% แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.2567

ต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ฝากให้ ธปท. ช่วยพิจารณาทบทวนปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตให้กลับไปที่ 5% อีกครั้ง 

ดังนั้น “โพสต์ทูเดย์” จึงนำเสนอมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีต่อกรณี ธปท. ยืดอัตราชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตไว่ที่ 8% ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 หุ้นกลุ่มใดได้ประโยชน์บ้าง 

บล.กรุงศรี มองว่า กรณีดังกล่าวเป็น slightly positive ต่อกลุ่มบัตรเครดิต (KTC, AEONTS) ต่อการผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 เดิมปรับเป็น 10% ตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 เพราะคาดว่าจะชะลอการตกชั้นของลูกหนี้ ทำให้ชะลอการเพิ่มของค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) และ NPL 

รวมถึงสถาบันการเงินจะมีรายได้ดอกเบี้ย (NII) เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าสามารถชดเชยการให้ส่วนลดลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งแรกปี 2568 และ 0.25% สำหรับครึ่งหลังปี 2568 และการใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้เปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) ของลูกหนี้ ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ 5% แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึง 8% ได้หมด

เบื้องต้นมองว่าบริษัทที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตจะได้ประโยชน์มากสุด โดยเรียงลำดับบริษัทที่มีสินเชื่อประเภทดังกล่าวมากไปน้อย ดังนี้

กลุ่ม Bank : ภาพรวมแต่ละธนาคารมีสินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 5%

กลุ่ม Consumer Finance : KTC (66%), AEONTS (44%) สำหรับ MTC, SAWAD, TIDLOR, THANI และ MICRO ไม่มีสินเชื่อประเภทดังกล่าว

ขณะเดียวกัน มองจิตวิทยาบวกฝั่งหุ้นค้าปลีกที่กำลังซื้อจะดีขึ้น โดยเฉพาะจากเม็ดเงินที่จะมีการให้เครดิตเงินคืน สำหรับกลุ่มคืนหนี้เงินขั้นต่ำเกิน 8% อาทิ CPALL, CPAXT, BJC

บล.เอเชีย พลัส ประเมินว่า การคงอัตราจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตในปี 2568 จะช่วยเลื่อนการไหลตกชั้นเป็น NPL ของลูกหนี้บางส่วนออกไป และต่อเนื่องให้การบริหารจัดการ CREDIT COST ปีหน้า มีความยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งคาดพอบรรเทาได้กับ YIELD ON LOAN ที่ประเมินลดลง 0.38% หรือรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจบัตรเครดิตต่ำลงราว 2-3% (ก่อนภาษี)

นอกจากนี้ การคงอัตราการจ่ายขั้นต่ำ ไม่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เลวร้ายไปกว่าเดิม เมื่อเทียบกับกระแสข่าวก่อนหน้าที่จะให้ลดอัตราการจ่ายขั้นต่ำเหลือ 5%

สำหรับการลงทุนกลุ่มนอนแบงก์ แม้ฝ่ายวิจัยไม่ได้ให้ FV ต่อ AEONTS และ KTC แต่มีมุมมองเป็นกลาง เหตุเพราะแรงกดดันด้าน NPL บางส่วน ซึ่งถูกเลื่อนออกไปชดเชย YIELD ON LOAN ที่มีโอกาสต่ำลง จากสมมติฐานของ CONSENSUS โดยในกลุ่มนอนแบงก์ เลือก MTC (OUTPERFORM) เพราะการคุม NPL ทำได้ดีกว่ากลุ่มฯ ตามด้วย TIDLOR (OUTPERFORM) และชอบน้อยสุดในกลุ่มฯ คือ SAWAD (NEUTRAL)

ด้านกลุ่มธนาคาร ด้วยสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อแต่ละธนาคารไม่สูง ภาพรวมจึงประเมินผลกระทบต่อประมาณการปี 2568 จำกัด คงน้ำหนัก “เท่าตลาด” จาก VALUATION ไม่แพง และ DIV YIELD ระดับ 5-9% ถือว่าน่าสนใจ

เลือกธนาคารพาณิชย์ที่การควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ทำได้ดีต่อเนื่อง เรียงตามความชอบ KBANK (OUTPERFORM) คู่กับ KTB (OUTPERFORM) > TTB (OUTPERFORM) > BBL (OUTPERFORM) > TISCO (NEUTRAL) > SCB (NEUTRAL) > KKP (UNDERPERFORM)

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.