ย้อนมหากาพย์หนี้ 8 ปี "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"
ในที่สุด "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ก็เดินทางมาถึงบทสรุปแห่งมหากาพย์ที่ยาวนานถึง 8 ปีหากอิงตามข้อมูลที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กก่อนหน้านี้จะเห็นว่า กรุงเทพมหานคร(กทม.)เป็นหนี้ "บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC" สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รวมดอกเบี้ยประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท โดยหนี้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M หรือ Electrical and Mechanical) เช่น อาณัติสัญญาณ สื่อสาร ระบบตั๋ว และประตูกั้นชาลา เป็นต้น ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท เริ่มมีตั้งแต่พ.ศ.2559 และเพิ่มขึ้นเมื่อขยายเส้นทางยาวขึ้น
รวมถึง หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา (O&M หรือ Operation and Maintenance) ที่รวมค่าเช่าขบวนรถไฟฟ้าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เริ่มมีตั้งแต่พ.ศ.2560 เมื่อเปิดเดินรถช่วงสถานีสำโรง-สถานีปู่เจ้าสมิงพราย ในวันที่ 3 เมษายน 2560 ซึ่งหนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเปิดเดินรถจากสถานีปู่เจ้าสมิงพราย-สถานีเคหะสมุทรปราการ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ตามด้วยการเปิดเดินรถจากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 และจากห้าแยกลาดพร้าว-สถานีคูคต ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563
จากวันนั้นจนถึงวันนี้(26 ก.ค.2567) ที่ "ศาลปกครองสูงสุด" สั่งให้ "กรุงเทพมหานคร(กทม.) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(KT)"ชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง(O&M)รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้ "บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS" จำนวน 11,750 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยที่ "BTS" ให้บริการระหว่าง พ.ศ. 2562 - 2564 ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
นี่คือข่าวดีของ BTS แต่คำถาม คือ "กทม. และ กรุงเทพธนาคม" จะนำเงินจากไหนมาจ่าย ?
ย้อนกลับไปฟังคำพูดของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)พูดก่อนหน้านี้ว่า "เรื่องเงินต้องคุยกันอีกครั้ง กทม.พยายามใช้งบประมาณต่างๆอย่างจำกัด เพื่อให้มีเงินเหลือไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ซึ่งการตั้งงบประมาณในปี 2568 เรายังตั้งงบประมาณเท่าเดิม คือ 90,000 ล้านบาท เนื่องจากยังมีคดีอื่นที่ค้างอยู่ ทั้ง คดีรถดับเพลิงที่ยังจอดอยู่ที่แหลมฉบัง อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นเรื่องในอดีตจะเห็นได้ว่าต้องเตรียมงบประมาณเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน"
นั่นอาจสะท้อนความจริงที่ว่า "กทม." อาจมีเงินไม่มากพอที่จะเคลียร์หนี้ทั้งหมดภายใน 180 วันใช่หรือไม่ เหตุเพราะสิ่งที่ต้องจ่ายมีอีกเยอะมาก แถมต้องกันไว้เผื่อฉุกเฉินอีกต่างหาก แต่คำสั่งศาลฯคือ "จ่ายก็คือต้องจ่าย" แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อก็คือ มีทางออกไหนบ้างที่ กทม.จะสามารถทำได้ หนึ่งในนั้นคือ "การเจรจา" เพื่อหาทางออกร่วมกันกับ BTS
แล้ว . . ทางออกที่ดีนั้นคืออะไร ?
การต่ออายุสัมปทาน คือคำตอบที่ "โดนใจ" ใช่หรือไม่ ?
ทราบกันดีว่า สัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว เส้นหลัก นั่นก็คือ สายสุขุมวิทและสายสีลม ที่จะหมดอายุใน พ.ศ.2572" นี่คือสิ่งที่ยืดเยื้อ "ต่อ หรือ ไม่ต่อ" จากที่ง่ายกลับยากและยังต้องลุ้นต่อว่าจะจบเช่นไร
ไม่รอช้า!! ผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ รีบยกหูโทรศัพท์เพื่อสอบถามความชัดเจนถึงทางออกที่ควรจะเป็นกับผู้มีอำนาจที่จะสามารถเคลียร์ชัดทุกคำถามได้ นั่นก็นายใหญ่ "คุณคีรี กาญจนพาสน์" แต่เสียงปลายสายนั้นกลับมีเพียงให้ฝากข้อความไว้เท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา รีบเปลี่ยนจุดหมายติดต่อไปหานายน้อย "คุณกวิน กาญจนพาสน์" ติดต่อได้แต่ไร้การตอบรับ "...."
แต่ในวันที่มีการประชุมผู้ถือหุ้น BTS มีคำถามเช่นกันว่า หาก กทม.ไม่มีเงินจ่ายหนี้จะทำเช่นไร ?
คุณคีรี ตอบเพียงสั้นๆว่า "ยังไม่รู้ ต้องรอดูท่าทีของ กทม. ว่าจะทำอย่างไร"
หากว่า "กทม. จ่ายหนี้สำเร็จ!" สมมุติว่า BTS ได้เงินตามนั้นจริง และนำไปชำระหนี้แน่นอนว่าจะดีต่องบการเงิน ซึ่ง บล.บัวหลวงมองว่าอัตราส่วน D/E ณ สิ้นปี 24/25 จะลดลงเหลือ 2.6 เท่า จากคาดการณ์เดิมที่ 2.7 เท่า และช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายได้ราว 300 ล้านบาทต่อปี นี่เป็นอัพไซด์ต่อประมาณการกำไร แต่ถึงกระนั้นแนวโน้มกำไรของ BTS ยังไม่น่าตื่นเต้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากการรับรู้ผลขาดทุนจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่เพิ่งเปิดให้บริการ
หากแต่ กทม.ไม่สามารถชำระหนี้เองได้ดังที่กล่าวในข้างต้นนั้น กทม.อาจจะต้องขยายสัมปทานให้ BTS และปล่อยให้ BTS รับภาระหนี้แทน กทม. และแบกรับความเสี่ยงเองทั้งหมด
หรือหาก กทม.สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ ทาง "BTS" ยังคงทำหน้ารับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปจนถึง พ.ศ. 2585 ซึ่งทาง กทม.จะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้เอง และรายได้ทั้งหมดจะเป็นของ กทม. แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดเช่นกัน
ไม่ว่าทางออกจะเป็นเช่นไร เชื่อว่าอีกไม่นานทุกอย่างจะต้องกระจ่างชัด ไม่ว่าจะจ่ายหนี้ หรือ ต่ออายุสัมปทานก็ตามที
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.