บทสรุปสายสีส้ม! ฝ่าด่านกังขา"ไม่โปร่งใส"

     มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทที่ลากยาวกันมานานถึง 4 ปี นับตั้งแต่ "บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC" ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ข้อหาการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมที่ยังค้างคาอยู่ในศาล

     แต่ปัจจุบัน "ศาลปกครองสูงสุด"ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในทุกคดีและร่างสัญญาร่วมลงทุนได้ผ่านการตรวจพิจารณาของอัยการสูงสุด พร้อมกับ ครม.เคาะตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอผลการคัดเลือกเอกชน นั่นก็คือ "บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM" เป็นผู้ชนะประมูลและร่างสัญญาร่วมลงทุน และเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนในที่สุด

     บทสรุปที่ชื่นมื่นต่อทุกฝ่าย! 

     ทันทีที่ BEM ได้สายสีส้ม นั่นหมายความว่า BEM จะมีรายได้ที่มีสัญญายาว 30 ปี และ Synergy ที่เกิดขึ้นจากความประหยัดต่อขนาดในการบริหารรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง รวมถึงการส่งต่อผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าเส้นทางหลักของ BEM อีกทั้งยังดีกับบริษัทแม่ อย่าง "บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK" ในฐานะผู้รับงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พร้อมงานติดตั้งระบบและจัดหาขบวนรถมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทเช่นกัน

     และแล้ววันนี้ที่รอคอยก็มาถึง เมื่อ BEM จรดปากกาเซ็นต์สัญญาจ้าง CK ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสำหรับทั้งโครงการ

     โดยช่วงตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรีนั้นมีกำหนดแล้วเสร็จ ภายใน 3 ปี 6 เดือน ซึ่ง BEM มั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการส่วนนี้ได้ก่อนกำหนดอย่างแน่นอน  และช่วงตะวันตก มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการช่วงตะวันออก

     "เปิดสายสีส้มช่วงแรกยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน เพราะช่วงแรกจะเห็นยอดโดยสารเพียง 1-3 แสนคนต่อวัน ต้องมี 5 แสนคนถึงจะถึงจุดคุ้มทุนและต้องมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อต่อยอดกันไปได้ซึ่งจะช่วยให้ถึงจุดคุ้มทุนเกิดขึ้นเร็วมาก แต่สายสีส้มจะทำให้สายสีน้ำเงินถึงจุดคุ้มทุนทันที"

     ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวยืนยันว่า BEM มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยการก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก BEM มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง CK ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน โดย CK ได้จัดเตรียมทีมงานและเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมเข้าดำเนินงานได้ทันที จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินงานได้แล้วเสร็จตามกำหนดการ อย่างมีคุณภาพและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุด

     ส่วนการจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตเพื่อสั่งซื้อรถไฟฟ้าแบบล็อตใหญ่รวม 53 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าที่ใช้ในสายสีส้ม 32 ขบวน และรถไฟฟ้าสำหรับบริการในโครงการสายสีน้ำเงินเพิ่มเติมอีก 21 ขบวน โดยบริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก เห็นได้จากในโครงการที่ผ่านมาบริษัทเลือกใช้ผู้ผลิตจากประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นหลัก 

     ถามว่า..เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านมาจากไหน ?

     BEM เตรียมกู้วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาทกับทางธนาคารกรุงเทพ(BBL)เต็มจำนวน แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก 90,000 ล้านบาทและสำหรับงานระบบรถไฟฟ้า 30,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ซึ่งทางธนาคารค่อนข้างเชื่อมั่นการดำเนินงานของบริษัท  

     ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก จะมีประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดตลอดเส้นทางคาดว่าจะมี 3 แสนคนต่อวัน สำหรับค่าโดยสารนั้นจะเริ่มต้นที่ 17- 44 บาท

      "ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของ BEM มีกำไรเติบโตจากการบริหารโครงการสัมปทานที่มีอยู่ทั้งรถไฟฟ้าและทางพิเศษ หลังจากกำไรที่เคยลดลงไปเมื่อช่วงโควิด-19 ตอนนี้กลับคืนมาแล้ว และยังทำกำไร New High ในทุกปีๆ จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง

     การได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็น New S-Curve ให้กับ BEM ช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนุนรายได้ให้กับสัมปทานตัวเดิมอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะจะส่งผู้ใช้บริการเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกนั้นจะมีผู้โดยสารประมาณ 80% เชื่อมเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทันที อีกทั้งยังทำให้เกิดการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ (Economy of Scale) และทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด"

     ถามว่า โครงการอื่นๆยังมีหรือไม่ ?

     BEM ยังมี "โครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck)" คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระการลงทุนของภาครัฐจึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะเดียวกันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการคัดเลือกเอกชนบริหารงานเดินรถก็คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน โดย BEM พร้อมที่จะเจรจาในทุกรูปแบบ 

     ขณะที่ "นโยบายตั๋วร่วม" ทาง BEM พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ปัจจุบันบริษัทได้เตรียมระบบ EMV รองรับการใช้งานไว้แล้ว ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายถือเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์  BEM ก็พร้อมให้ความร่วมมือและเจรจาเหมือนกับโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

     "กำไรในปีที่ผ่านมาก็ทำนิวไฮ กำไรปีนี้ก็จะทำนิวไฮ ปีหน้าก็จะทำนิวไฮ เราจะทำนิวไฮต่อเนื่อง ซึ่ง BEM จะเป็นบริษัทที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน และเป็น Dividen Stock อย่างแน่นอนแม้ในช่วงแรกอาจยังไม่ใช่ก็ตาม และจะเป็น Growth Stock อย่างแน่นอน"

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.