Interview : TDRI หนุนรัฐลุย “หวยเกษียณ” แก้จุดอ่อนหนุนการออมผู้สูงวัย

เกิดกระแสดราม่าขึ้นทันทีหลัง นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “จะออมเงิน…ต้องซื้อหวยเกษียณ!” ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นการออมเงินรองรับวัยเกษียณของรัฐบาล ผ่าน "สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ" หรือ "สลากเกษียณ" หลังพบว่าเสียงส่วนใหญ่จาก 1,310 หน่วยตัวอย่าง ไม่สนใจ และ ไม่เห็นด้วย หวยเกษียณ โดยส่วนใหญ่กลับมองว่าเป็นการมอมเมาให้ประชาชนเสพติดการพนัน 

 

เช่นเดียวกับมุมมองของบางนักวิชาการ เห็นว่า หวยเกษียณ ไม่ตอบโจทย์การออมของคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้จำนวนมาก จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ดังนั้นการสร้างวินัยทางการเงิน วินัยทางการออม น่าจะเป็นทางออกแรก และยั่งยืนสำหรับคนไทยในตอนนี้

 

ขณะเดียวกัน มีความเห็นต่างจากนักวิชาการบางส่วน ที่ยกมือสนับสนุน โดยมองว่า เป็นนโยบายที่ส่งเสริมการออมให้กับคนไทย หลังพบว่ากว่า 80% ไม่สามารถเก็บเงินออมได้ ขณะที่ปัจจุบันคนไทยมีความใกล้ชิดกับหวยอยู่แล้ว

 

ด้านมุมมองของ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับ สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ว่ นโยบาย“หวยเกษียณ” เป็นการตอบโจทย์ปัญหาการออมของไทย หากพิจารณาจากคำแนะนำทางวิชาการในเรื่องการเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณอายุจะพบว่า คนที่จะเกษียณอายุและต้องอาศัยเงินออมเพื่อดูแลตัวเองควรจะต้องมีเงินออมประมาณ 3-4 ล้านบาท ซึ่งผลการสำรวจการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุจะพบว่า กลุ่มคนที่มีเงินออมในระดับนั้นอาจจะมีเพียง 20-40% เท่านั้น ภาครัฐจึงควรจะต้องหาแนวทางในการสนับสนุนการออมให้กับประชาชนมากกว่านี้ 

 

“หวยเกษียณ ถือเป็นนวัตกรรมการออมชนิดหนึ่ง ที่พยายามจะดึงเงินของประชาชนจากที่เคยเสี่ยงโชค เช่น เล่นหวยใต้ดิน/บนดิน หันมาซื้อผลิตภัณฑ์ตัวนี้แทน ซึ่งนอกจากจะได้เสี่ยงโชคแบบเดิมแล้ว เงินยังไม่สูญเปล่า สามารถเป็นเงินออมยามเกษียณได้อีกด้วย” ดร.นณริฏ กล่าว

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาในเรื่องของหลักการ จะพบว่า มีความเหมือนกันกับสลากที่มีในปัจจุบัน คือ เป็นความพยายามที่จะดึงเงินจากการเสี่ยงโชค มาเป็นเงินออมเหมือนกัน แต่ส่วนตัวมองว่า จุดนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญ เพราะประเทศไทยมีสลากออมสิน และสลากธกส. อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจูงใจให้เกิดการออมได้ จึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่าเดิม 

 

“ในทางวิชาการยังมีจุดอ่อนในหลายๆ ด้านที่ทำให้สลากออมสิน/สลาก ธกส. อาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้ จึงต้องการผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ อาทิ เช่น ความสะดวกในการซื้อ การเดินทางไปซื้อสลากที่ ธ. ออมสิน ธกส มีต้นทุน โอกาสในการได้รางวัล ผู้ที่เล่นพนันหวยใต้ดิน/บนดิน ให้ข้อมูลว่าไม่ชอบสลากเพราะโอกาสถูกรางวัลยาก เพราะต้องแข่งกับคนรวยที่ซื้อทีละเป็นล้าน รัฐบาลจึงต้องออกแบบหวยเกษียณให้ดีกว่าเดิม” ดร.นณริฏ กล่าว

 

หากถามว่า หวยเกษียณช่วยแก้ปัญหาหวยใต้ดินได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับการออมแบบผลิตภัณฑ์ ถ้าทำได้ดีก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้บางส่วน แต่บางส่วนก็จะยาก เพราะว่าหวยใต้ดินก็มีวิวัฒนาการไปมากเหมือนกัน เช่น เล่นออนไลน์ได้ เล่นได้ทุกวัน แต่ถ้ามีการออกแบบดีๆ น่าจะสามารถแข่งขันได้ แต่ก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ดีด้วย

 

ส่วนที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าอาจเป็นการมอมเมาให้เสพติดการพนัน ส่วนตัวมองว่า ไม่เป็นการมอมเมา แต่เห็นว่าสอดรับกับพฤติกรรมของคนไทยที่ติดการพนันอยู่ก่อนแล้วมากกว่า ดังนั้น ไม่ควรจำกัดการออมต่อเดือน แต่ควรจะจำกัดเพดานให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับโอกาสที่จะถูก เช่น หากออมครบ 3,000 บาทต่อเดือน ไม่ว่าจะมากกว่านี้แค่ไหนก็จะมีโอกาสถูกรางวัลที่ 1 เท่าๆ กัน

 

สำหรับผลโพล ที่ชี้ว่า คนส่วนใหญ่เมินซื้อหวยเกษียณนั้น มองว่าโครงการนี้้ยังอยู่ในระหว่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงไม่สามารถประเมินความเหมาะสมได้ในตอนนี้ ต้องรอดูว่าออกแบบดีไหม และมีการประชาสัมพันธ์ดีไหม แต่หลักการถือว่าดีตามหลักวิชาการแล้ว

 

“คนไทยมีปัญหาทั้ง 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งคือ ขาดรายได้ที่สูงพอ แต่ก็พบว่าคนที่มีรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ มีการออมที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นตามหลักวิชาการ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรแก้ ทั้ง 2 ปัญหา คือ การแก้หนี้ครัวเรือน และการเพิ่มรายได้ให้คนไทย และสามารถทำได้พร้อมๆ กันกับมาตรการกระตุ้นการออมของคนไทย” ดร.นณริฏ กล่าว
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.