กางอนาคตสเปซเทค ไทยคม ชู แพลตฟอร์ม “ CarbonWatch” รายแรกในอาเซียน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไทยคม เปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากผู้นำด้านดาวเทียม สู่ ผู้นำ สเปซเทค เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจนี้จะเป็นธุรกิจที่สำคัญและตอบโจทย์ ESG ล่าสุดไทยคมประสบความสำเร็จในการพัฒนา แพลตฟอร์ม CarbonWatch เครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI โดยได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รายแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) โดยได้จับมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)  

แพลตฟอร์มดังกล่าว ช่วยทำให้การประเมินคาร์บอนเครดิต แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ที่ต้องใช้คนเดินเข้าไปจดค่าคาร์บอนเครดิตในป่า โดยเราคิดค่าบริการอยู่ที่ 100-300 บาทต่อไร่ ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ โดยลูกค้าหลักของเรามีทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิต และ บริษัทเอกชนที่มีการตื่นตัวเรื่อง Net Zero รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีผืนป่าจำนวนมาก 

ด้านม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ช่วยลดการเผาป่า สร้างรายได้ชุมชน แพลตฟอร์มของไทยคนนับเป็นเทคโนโลยีแรกในอาเซียนที่นำดาวเทียมมาใช้งาน
สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยที่กรมสรรพสามิตรประกาศที่ 200 บาทต่อตันนั้น หากเทียบกับราคาที่เวที The World Economic Forum กำหนดไว้ที่ 85 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถือว่าเป็นราคาที่บอกไม่ได้ว่าราคาไหนถูกต้อง เพราะมีการคาดการณ์ว่าการกำหนดราคาในอนาคตนั้นจะกำหนดตามการพัฒนาของประเทศ คือ ประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว โดยเชื่อว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีราคาสูงกว่าเพราะประเทศพัฒนาแล้วย่อมมีการปล่อยคาร์บอนเครดิตสู่โลกมากกว่า ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่ประเด็นเพราะสิ่งสำคัญคือคนกลางที่ขายคาร์บอนเครดิตจะนำเงินคืนให้ชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน มีการกดราคาหรือไม่

ขณะที่นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ อบก. กล่าวว่า ปัจจุบันอบก.มีการรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้ว 18 ล้านตัน แต่มีการซื้อขายจริง 2 ล้านตัน เราจึงต้องสนับสนุนให้มีการซื้อขายจริงมากขึ้น โดยไทยคม นับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสํารวจระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จาก อบก. ที่สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย  และนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู ดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.