“สรรพสามิต” ของบกลาง 7 พันล้าน อุดหนุนรถEV คาดปี 67 ยอดผลิตในไทยแตะ 9 หมื่นคัน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างของบกลาง จากสำนักงบประมาณอีกราว 7 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) อีก 3.5 หมื่นคัน ตามมาตรการอีวี 3.0 ของรัฐบาล หลังจากที่ได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับรถอีวีที่เข้าเงื่อนไขในรอบแรกไปแล้ว ราว 4 หมื่นคัน คิดเป็นวงเงิน 7 พันล้านบาท 

 

“มาตรการอีวี 3.0 นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนราว 1.4 หมื่นล้านบาท โดยรอบแรกกรมฯ จ่ายไปหมดแล้ว 4 หมื่นคัน 7 พันล้านบาท แต่ยังเหลือตกค้างอีก 3.5 หมื่นคัน ซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงบประมาณเพื่อขอใช้งบกลางอีกราว 7 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา” นายเอกนิติ กล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ที่เข้ามาเซ็นสัญญาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการสนับสนุนอีวี 3.0 ของรัฐบาล (ปี 2565-2566) แล้ว 23 บริษัท ซึ่งจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และได้รับเงินอุดหนุนคันละ 7 หมื่น - 1.5 แสนบาท ตามขนาดของแบตเตอรี่ โดยมีเงื่อนไขว่าค่ายรถยนต์ดังกล่าวจะต้องมีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อชดเชยการนำรถอีวีเข้ามาขาย 1 เท่าด้วย โดยจะต้องเริ่มผลิตรถอีวีในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2567-2568 ซึ่งขณะนี้พบว่า มีค่ายรถยต์ที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คิดเป็นเม็ดเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีในไทยให้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก

 

"ค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.0 มีการนำเข้ารถอีวี ราว 1 แสนคัน ดังนั้นจะต้องผลิตชดเชยการนำเข้า 1 เท่า โดยเท่าที่ได้มีการสอบถามไปยังค่ายรถยนต์ที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว คาดว่าน่าจะผลิตได้ราว 8-9 หมื่นคัน  และตามแผน 30@30 ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะมีการผลิตรถอีวีในไทยอยู่ที่ 7.5 แสนคันนั้น เชื่อว่าจะเป็นไปได้ตามแผนแน่นอน" นายเอกนิติ กล่าว 
 

ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์เข้ามาเซ็นสัญญากับกรมฯ เพื่อรับสิทธิประโยชน์แล้ว 8 ราย ในส่วนนี้จะได้รับเงินอุดหนุนราคารถยนต์เช่นเดียวกัน แต่ในระดับที่แตกต่างจากมาตรการอีวี 3.0 โดยรถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์จะได้รับเงินอุดหนุน 1 แสนบาทต่อคันในปีแรก และ 7.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 2 และ 5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 3-4 ส่วนรถอีวีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่แรก และ 3.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 2 และ 2.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 3-4 และได้รับสิทธิประโยชน์ลดภาษีนำเข้า CBU ไม่เกิน 40% ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

 

ขณะนี้ จะเริ่มเห็นการผลิตรถอีวีในไทย จากค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.0 แล้ว ส่วนค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.5 นั้น จะต้องเริ่มผลิตรถอีวีในไทยตั้งแต่ปี 2569-2570 ซึ่งมาตรการสนับสนุนอีวีของรัฐบาลทั้งหมดจะจบลงในปี 2570 จะไม่มีการอุดหนุน หรือการลดภาษีให้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงมองว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดฐานการผลิตรถยนต์อีวีในไทย 

 

สำหรับ รถยนต์สันดาปนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งพิจารณาแนวทางการสนับสนุนและช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับค่ายรถยนต์สันดาปบ้างแล้ว หลักๆ มีการขอลดอัตราภาษี ซึ่งกรมฯ มีเงื่อนไขว่าการลดภาษีจะต้องนำมาด้วยการสร้างฐานการผลิตในประเทศ การลงทุนที่ต้องคุ้มค่า เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรม และสร้างชีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.