เวทีรับฟังความเห็นแผนคลื่นความถี่ กสทช. พบประชาชนต้องการคลื่น WiFi

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 กสทช. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เป็นประธานเปิดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป (Public Hearing) ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. ...) โดยมี กสทช. รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ประกอบการและประชาชน เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นด้วยทั้งออนไลน์และออนไซต์มากกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมเมย์แฟร์ ชั้น 11 โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร  

กสทช. ธนพันธุ์ฯ ในฐานะประธานอนุกรรมการคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค กสทช. กล่าวว่า  แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่เป็นเสมือนต้นน้ำของกระบวนการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ และเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องจัดทำเป็นเรื่องแรก เพื่อให้มีแนวทางในการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ของประเทศไทย รวมทั้งจัดทำตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ (Frequency Allocation Table) ที่มีรายละเอียดคลื่นความถี่ในแต่ละย่านว่าสามารถใช้งานในกิจการใดได้ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ ITU กำหนด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำและปรับปรุงมาแล้ว 2 ฉบับ ในครั้งนี้จึงได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งผลการประชุมวิทยุโทรคมนาคมระดับโลก หรือ “World Radiotelecommunications Conference” หรือ WRC ที่ ITU ได้สรุปผลการประชุมไปในปีที่แล้ว

การปรับปรุงแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ในครั้งนี้จึงได้มีการปรับปรุงใน 2 ส่วนหลัก กล่าวคือ ในส่วนของแผนแม่บทฯ ที่ยังคงมีวิสัยทัศน์ที่กำหนดให้ “บริหารคลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและทั่วถึง” รวมทั้งยุทธศาสตร์ทั้ง 3 เช่นเดิม แต่ได้มีการปรับปรุง เป้าประสงค์ กลยุทธ์และตัวชี้วัดให้เหมาะสม และในส่วนของตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติที่ได้มีการปรับปรุงย่านคลื่นความถี่และข้อกำหนดเฉพาะของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสากล 

โดยได้มีผู้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เช่น ควรเน้นในเรื่องของความถี่ภาคประชาชนหรือจัดหาคลื่นความถี่ในลักษณะ unlicensed band เช่น คลื่นความถี่สำหรับ WiFi ให้มากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์หรือลดภาระให้มากขึ้น ตลอดจนในอนาคตควรมีการศึกษาและจัดทำกรอบการวางแผนคลื่นความถี่ในอนาคต (Spectrum Outlook) มิใช่เฉพาะสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่สากล หรือ IMT เท่านั้น แต่สำหรับกิจการอื่น เช่น โทรคมนาคมประจำที่ (Fix Link) เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน กสทช. รับไว้พิจารณาต่อไป โดยที่ประชาชนทั่วไปยังคงแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 

คลื่นความถี่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติที่มีมูลค่าทั้งทางตรงและทางอ้อมที่สูง และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันบนโลกดิจิทัลในยุคไร้สายที่ต้องการให้การสื่อสารไปได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งมีความต้องการในการนำคลื่นความถี่มาประยุกต์ใช้งานในหลายกิจการ แม้กระทั้งในรอบตัวเราปัจจุบันก็มีใช้คลื่นความถี่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ วิทยุ โทรทัศน์ รีโมตคอนโทรน ไม้กันทางด่วน ไวไฟ บลูทูต ฯลฯ ล้วนต้องใช้คลื่นความถี่ทั้งสิ้น ไม่นับกิจการสื่อสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน หรือ ด้านความมั่นคง

ทำให้ปัจจุบันคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ทำให้ กสทช.ต้องบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและทั่วถึง อย่างแท้จริง ดังนั้นการจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่จึงต้องมีความถูกต้องเหมาะสมที่สุด

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.