1560 ยืนไหว! SETสัปดาห์หน้าไปต่อ เป้าไกล 1600 พร้อมตีแตกเกม ก.ย. ซื้อ-ถอย?

     ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดการซื้อขายวันนี้(1 ก.ย. 2566) อยู่ที่ 1,561.51 จุด ลดลง 4.43 จุด คิดเป็น -0.28% มูลค่าการซื้อขาย 48,763.61 ล้านบาท ระหว่างวันดัชนีปรับขึ้นสูงสุด 1,571.81 จุด และลดลงต่ำสุด 1,559.20 จุด 

5 หุ้นซื้อขายสูงสุด ดังนี้

     1. BANPU ปิดที่ 8.30 บาท ลดลง 0.30 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,215.86 ลบ.

     2. PTT ปิดที่ 35 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,967.25 ลบ.

     3. PTTEP ปิดที่ 162.50 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,961.52 ลบ.

     4. DELTA ปิดที่ 110 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,454.26 ลบ.

     5. KBANK ปิดที่ 129.50 บาท ลดลง 1 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,265.88 ลบ.

ต่างชาติขาย รายย่อยซื้อ

หุ้นไทยสัปดาห์หน้า

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีแรงบวกอย่างต่อเนื่องและขึ้นเหนือแนวต้านที่มีนัยยะสำคัญบริเวณ 1570 จุด ถือว่ามีสัญญาณที่ดีในการกลับเป็นขาขึ้นรอบใหม่ แต่เนื่องจากการขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการย่อตัวบ้างเล็กน้อย

     ทั้งนี้มองว่าหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า(ระหว่างวันที่ 4-8 ก.ย.2566)จะยังแกว่งตัวในกรอบ 1560-1580 จุด และมีเป้าขาขึ้นที่ 1600-1660 จุด

     โดยกลุ่มที่ยังนำตลาดแต่เริ่มลดความร้อนแรงในช่วงนี้ ได้แก่ ENERG , กลุ่มที่กำลังจะพักตัวลงมาที่โซน Weakening ได้แก่ ETRON , กลุ่มที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในโซน Improving ได้แก่ CONS และเริ่มฟื้นตัว ได้แก่ ICT ขณะที่ กลุ่มที่อ่อนแอกว่าตลาดต่อเนื่อง ได้แก่ CONMAT ส่วนกลุ่มที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ได้แก่ HELTH, TOUR, COMM, PROP และ FIN

     พาณิชย์มีทิศทางค่อนข้างแข็งและเป็นกลุ่มที่ยังไม่ขึ้นแรงเกินไปในช่วงที่ผ่านมา มองมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวของกรอบบนบริเวณ 36500 จุด ซึ่งหากผ่านได้จะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นและดันตลาดให้ขึ้นในรอบใหม่ได้

     อย่างไรก็ดี ฝ่ายฯแนะนำ Trading หุ้น MC กราฟรายสัปดาห์เบรกแนวต้าน 12.70 บาทขึ้นมาสวยงาม พร้อม Volume มีโอกาสทดสอบแนวต้านถัดไป 13.90 บาท เพื่อเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง

     และ หุ้น CPALL ราคาดีดทะลุแนว 64.75 บาทขึ้นมาได้และกำลังทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 66.25 บาท ภาพรวมแข็งแกร่งเหมาะกับการเล่นแบบ Swing Trade โดยแนวรับ 64.75 บาท แนวต้าน 66.25 / 67.75 บาท 

ติดตามเงินเฟ้อไทย

     ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า คืนนี้ติดตามตัวเลข Nonfarm Payrolls และ Unemployment Rate เดือน ส.ค. หากภาคการจ้างงานสหรัฐฯชะลอตัว เชื่อว่าจะเป็นแรงหนุนให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯหยุดอยู่ที่ 5.5% ส่วนสัปดาห์หน้าวันที่ 5 ก.ย. ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อไทย เดือน ส.ค. ตลาดคาดเพิ่มขึ้น +0.78%YoY (เดือน ก.ค. +0.38%) 

     กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นรับมาตรการจีนกระตุ้นเศรษฐกิจ เลือกหุ้น SCGP เส้นทางแห่งการเติบโตกลับมาอีกครั้ง หลังหลายปัจจัยลบผ่อนคลายลง เป็นเวลาที่ SCGP จะได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมา หลังการลงทุนเพิ่มสินทรัพย์และรายได้อย่างมากตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา, หุ้น PTTGC และ หุ้น IVL รับบริเวณ 29.50 บาท เป้าทำกำไร 31 บาท และ CutLoss 28.50 บาท

ตีแตกเกมหุ้นเดือน ก.ย.

     นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนเดือนกันยายน 2566 ในช่วงแรกดัชนีหุ้นทั่วโลกจะยังแกว่งตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ รับความคาดหวังที่ Fed น่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ ก่อนที่อาจต้องใช้ความระมัดระวังหลังจากนั้น จาก Dot plots และโทนของ Fed ที่อาจออกมา Hawkish กว่าที่ตลาดคาดการณ์ 

     ดังนั้น ประเมินครึ่งเดือนแรกมีแนวโน้มที่ดัชนีจะปรับตัวดีกว่าครึ่งเดือนหลัง ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET จะมีแนวต้านอยู่ที่ระดับจิตวิทยา 1600 จุด โดยมีกรอบแนวรับอยู่ที่ 1500-1520 จุด

     ในเชิงกลยุทธ์ แนะนักลงทุนหาจังหวะทยอย Lock profit ในช่วงครึ่งเดือนแรกในกลุ่มหุ้นที่แนะนำ Selective มาก่อนหน้านี้ ซึ่งประเมินว่าจะยังเป็นช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกถูกประคับประคองได้อยู่ ส่วนในช่วงครึ่งเดือนหลัง แนะเข้าสู่โหมด Wait & See เพื่อป้องกันความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นจากการประชุม FOMC

     อย่างไรก็ดี ผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนใหม่จริงๆ ณ เวลานี้ที่ Valuation ของตลาดอยู่ในโซนเปราะบางแล้ว แนะนำโฟกัสไปยัง Sector ที่ราคาและ Valuation กองอยู่ในโซนล่าง โดยหากแบ่งออกเป็นประเภทจะได้แก่ 1. กลุ่ม Domestic สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรไปตามปัจจัยนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่มากก็น้อย ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) มองหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ PLANB, VGI, BEC, ONEE 

     และ 2.กลุ่มที่อิงกับปริมาณการค้าขายในระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะเห็นปัญหาการ Destocking ที่ลดลง และล่าสุดเริ่มเห็นการยืนทรงตัวได้ของตัวเลข PMI ภาคการผลิต นอกจากนั้น ยังเตรียมได้อานิสงส์หากรัฐบาลประกาศใช้นโยบายลดราคาพลังงานจริง มองไปยังกลุ่ม Logistics ที่ Earnings อยู่ในช่วง High season อาทิ III, LEO, SJWD, WICE 

7 ปัจจัยนอกเหนือประชุมเฟด

      สำหรับปัจจัยที่น่าสนใจอื่นนอกเหนือจากการประชุม Fed ในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ 1.ปัจจัยเฝ้าระวังเกี่ยวกับ แรงขายของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นปกติในเดือนกันยายนของทุกปี โดยอาจเป็นการเตรียมเงินสดเพื่อรองรับการไถ่ถอนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ 

     2. การประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 14 ก.ย. โดยจะต้องติดตามคาดการณ์ GDP และเงินเฟ้อรอบใหม่ที่จะออกมาในครั้งนี้ด้วย 

     3. การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 21-22 ก.ย. โดยต้องติดตามดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการ Yield Curve Control หรือไม่ 

     4. ความเป็นไปได้ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของจีน 

     5. ความเป็นไปได้ในการขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุฯและรัสเซีย 

     6. การประชุม กนง. ของไทยในวันที่ 27 ก.ย. ซึ่งมีลุ้นว่ากนง.อาจจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยของวงจรนี้ไว้เพียงแค่นี้ แต่หาก กนง. ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปสู่ระดับ 2.50% ประเมินจะเป็นปัจจัยลบต่อภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยที่สำคัญ 

     และ 7. พัฒนาการของรัฐบาลไทยชุดใหม่ โดยเฉพาะแนวนโยบายเศรษฐกิจ และแผนการอนุมัติงบประมาณในช่วงถัดไป

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.