ทัวร์อาณาจักร WHA Group มูลค่ารวมกว่า 1.7 แสนล้าน

เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง เนชั่น กรุ๊ป ได้มีโอกาสเยี่ยมชมกิจการของ WHA Group โดย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า ปัจจุบัน WHA Group มีมากกว่า 70 บริษัท มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท ภายใต้ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล      

โดยภาพรวมธุรกิจในปี 2567 เริ่มจากธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่บนที่ดิน 300-400 ไร่ บนทำเลยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ จากสิ้นปี 2566 มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,945,000 ตารางเมตร บนทำเลยุทธศาสตร์ 70 แห่งทั่วประเทศ หลักๆ จะอยู่ในโซนบางนาตราด มากกว่า 20 ทำเล ราว 1,500,000 ตารางเตร โดยมีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) อยู่ที่ 85.8%

นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และขยายธุรกิจในการพัฒนาโครงการคลังสินค้า/โรงงานคุณภาพสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ล่าสุดได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการคลังสินค้าให้เช่าแห่งแรกในประเทศเวียดนาม ขนาด 35,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงฮานอย คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ภายในช่วงสิ้นปี 2567 หรือต้นปี 2568

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมุ่งเน้น Green Logistics ซึ่งบริษัทจะมีการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จ และอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวมบริการต่างๆ (Super Driver App) สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ อาทิ การบริหารยานพาหนะ (Fleet Management) การวางแผนเส้นทาง (Route Optimization) และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roaming) เป็นต้น คาดว่า Super Driver App พัฒนาแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ค.2567 เพื่อมุ่งสู่การสนับสนุนและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งของประเทศ 

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในส่วนของปิกอัพและหัวลาก เพิ่มอีก 1,100 คัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท แต่ในปีนี้บริษัทจะมีรายได้เข้ามาทันทีประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และมีกำไรตั้งแต่ปีแรกในปีนี้ จากปี 2566 มีลูกค้าเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 25 คัน  

อีกทั้งในปี 2567 บริษัทมีแผนการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR โดยตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 213,000 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,290 ล้านบาท จากปัจจุบันมีมูลค่ารวม 72,000 ล้านบาท

ต่อมาเป็นธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินรวมไว้ที่ 2,275 ไร่ แบ่งเป็น ไทย 1,650 ไร่ และเวียดนาม 625 ไร่ จากปี 2566 บริษัทมียอดขายที่ดินรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวม 2,767 ไร่ แบ่งเป็น ไทย 1,986 ไร่ และเวียดนาม 781 ไร่ 

ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งประเทศไทยและเวียดนามทั้งหมด 77,600 ไร่ รวม 13 แห่ง มีลูกค้า 1,031 ราย เป็นต่างชาติ 85% ทำให้สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศได้มากกว่า 1.66 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ไทย 12 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 43,200 ไร่ ซึ่งมีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ได้แก่ 1.เขตประกอบอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 จำนวน 2,400 ไร่ และ 2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 5 จำนวน 3,400 ไร่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2568

นอกจากนี้ ยังได้ขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เฟส 3 จำนวน 640 ไร่ 2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เฟส 2 จำนวน 480 ไร่ 3.โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เฟส 3 จำนวน 330 ไร่ และ 4.โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 เฟส 2 จำนวน 600 ไร่

ส่วนเวียดนาม มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1 - เหงะอาน โดยมีพื้นที่รวม 13,125 ไร่ (2,100 เฮกตาร์) โดยมีแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่ง รวมพื้นที่ 22,815 ไร่ (3,650 เฮกตาร์) ประกอบด้วย

1.เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone 1 - Thanh Hoa พื้นที่ 3,125 ไร่ (500 เฮกตาร์) ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2567 2.เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone 2 - Thanh Hoa พื้นที่ 1,875 ไร่ (300 เฮกตาร์) และ 3.เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone - Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ (400 เฮกตาร์) 

ขณะที่ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวม 178 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น ไทย 142 ล้านลูกบาศก์เมตร และเวียดนาม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการนิคมใหม่ๆ ทั้งภายในและภายนอกนิคมของบริษัท รวมถึงการมุ่งเน้นธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากในปี 2566 มีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในไทย และเวียดนาม รวม 155 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น ไทย 121 ล้านลูกบาศก์เมตร และเวียดนาม 34 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทางด้านพลังงาน ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามแล้วเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ (Conventional Fuel) 547 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 453 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) 283 เมกะวัตต์ จากปี 2566 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 858 เมกะวัตต์ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นพลังงานสะอาด ทั้ง Solar Rooftop, Floating Solar และ Solar Carpark ขณะที่ในช่วงต้นปี 2567 ได้เซ็นสัญญาอีก 60 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 920 เมกะวัตต์ 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการศึกษาแผนการลงทุนในนวัตกรรมด้านพลังงานต่างๆ ได้แก่ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading) การซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน 

สำหรับธุรกิจดิจิทัล ในปี 2567 บริษัทเดินหน้าในการนำเทคโนโลยี AI มาขับเคลื่อนองค์กร ทั้ง AI & ML Data Insight, AI Cybersecurity และ Generative AI เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Technology Company ภายในสิ้นปี 2567

ทั้งนี้ ได้เยี่ยมชมศูนย์ควบคุมกลาง Unified Operation Center (UOC) ซึ่งเป็นศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMcC) ระบบกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย (CCTV) และระบบควบคุมการจราจร (VMS) รวมทั้งศูนย์ควบคุมระบบน้ำและระบบบําบัดน้ำเสีย รองรับการตรวจวัดสถานะต่างๆ ในเขตประกอบการแบบเรียลไทม์ ทั้งระบบผลิตน้ำ ระบบการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

จากนั้นไปเยี่ยมชมอาคารคลังสินค้าในพื้นที่ บาง กม. 23 เฟส 3 ที่มีจำนวน 6 อาคาร บนพื้นที่ให้เช่า 90,000 ตารางเมตร ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ โดยอาคารที่ไปเยี่ยมชมมีพื้นที่ให้เช่า 22,000 ตาราเมตร ใช้เงินลงทุน (ไม่รวมที่ดิน) ประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งมีการออกแบบให้ภายในอาคารมีอุณหภูมิต่ำกว่าข้างนอก 3-4 องศา ซึ่งมีลูกค่าหลายหลากให้ความสนใจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปลูกค้าเข้ามาใช้บริการภายใน 2 เดือนนี้ 

ต่อกันด้วยการเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) – ESIE มีพื้นที่ 9,688 ไร่ (3,829 เอเคอร์) ปัจจุบันมีโรงงานมากกว่า 361 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 (WHA ESIE 1) มีพื้นที่ 8,003 ไร่ มีผู้ผลิตอุปกรณ์ อะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์กว่า 260 ราย 

โดยใน WHA ESIE 1 มี บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) ซึ่งทำ Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนพื้นที่หลังคารวม 59,000 ตารางเมตร กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 7.7 เมกะวัตต์   

สุดท้ายเยี่ยมชม RO Plant นำกระบวนการ Reverse Osmosis (RO) มาใช้เป็นมาตรฐานการจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในนิคมอุตสาหกรรม โดยนำน้ำเสียที่รับมาจากลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมมาปรับปรุงคุณภาพ และนำไปใช้ต่อในโรงไฟฟ้า ตอบโจทย์ลูกค้าในเรื่องต้นทุน ทำให้ลูกค้าประหยัดได้ 10-20%

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.