ประธานกสทช.ชี้สรรหาเลขาฯกสทช.ถูกต้องหลัง ‘วุฒิสภา’ ส่งเรื่องถึงป.ป.ช.
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรณีที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้ส่งรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. พร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานฯของคณะกรรมาธิการฯและ สว. ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป นั้น
ตนขอชี้แจงว่า ไม่ได้หนักใจ เขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราก็ทำหน้าที่ของเรา ตนเองอยู่ในตำแหน่งมาประมาณ 2 ปี และกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการกสทช.ก็ได้ดำเนินการครบถ้วน สมบูรณ์ แล้ว การที่สว.บางคนไม่เห็นด้วย ต้องถามว่า มีอำนาจพิจารณาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกสทช.ก็เป็นองค์กรอิสระ การส่งรายงานนั้นเป็นเรื่องรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แต่กลับกลายเป็นความผิดของประธาน เพียงเพราะสิ่งที่เราตีความ ไม่ถูกใจคณะกรรมาธิการฯ
สำหรับสาเหตุที่ตนเองไม่ได้เข้าไปชี้แจง เนื่องจาก ประเด็นการสรรหาเลขาธิการกสทช.ยังอยู่ในกระบวนการตัดสินของศาล ซึ่งนางสุรางคณา วายุภาพ หนึ่งในผู้สมัครเลขาธิการกสทช.ฟ้องร้องอยู่ ดังนั้นจึงไม่ควรก้าวล่วง แต่อย่างไรก็ตาม หากทั้ง ผู้ตรวจการฯ หรือ ป.ป.ช.ทำเรื่องให้เข้าไปชี้แจงก็พร้อมจะชี้แจง
รายงานข่าวแจ้งว่า ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ฯ ดังกล่าว ได้มีข้อเสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการคัดเลือก และภายหลังกระบวนการคัดเลือก รวมถึงจัดส่งรายงานฯไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาว่าการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ตามประกาศประธาน กสทช. ลงวันที่ 17 มี.ค.2566 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่
รวมถึงส่งรายงานฯไปให้ ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาหยิบยกเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งใช้เวลามาแล้ว 1 ปี 9 เดือน มาพิจารณาดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ประธาน กสทช. กรรมการ กสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช. มีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เป็นต้น
เหตุผลที่ กมธ.โทรคมนาคมฯ วุฒิสภา พิจารณาคุณสมบัติประธาน กสทช. สืบเนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิสิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ได้มีหนังสือถึงประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 28 กันยายน 2566 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศาสตราจารย์คลิกนิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. โดยขอให้วุฒิสภาตรวจสอบว่านพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ มีลักษณะต้องห้าม ตามาตรา 7 (12) และ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน ตามมาตรา 8 และ มาตรา 18 รวมทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
แม้ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งยกฟ้องของ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่เนื่องจาก กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา เห็นว่ากระบวนการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. ล่าช้าเนื่องจากความเห็นแตกต่างของบอร์ด กสทช. โดย ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. วันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ประชุมบอร์ดวาระพิเศษเวลา 9.30 น. ได้มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบชื่อนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ตามที่นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ที่เสนอรายชื่อจากแต่เพียงผู้เดียว โดยได้เหตุผลว่า โดยบอร์ดเสียงข้างมาก 4 คนประกอบด้วย ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ุ หร่ายเจริญ , น.ส.พิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ไม่เห็นชอบกับกระบวนการสรรหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น เพราะยืนยันว่าการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของบอร์ดทุกคน
ทั้งนี้ หลังจากประธานคณะกรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. เกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ตรงกันกรณีการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดของรายงานผลการพิจารณาศึกษาฯ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายรายงานฯฉบับดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ด้าน พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ตอนแรกวุฒิสภาก็บอกว่าความล่าช้าในการสรรหาเลขาธิการกสทช.เป็นความผิดของบอร์ดกสทช. ตนเองก็ขอให้เร่งรัดการสรรหาใหม่ ซึ่งประธานก็อ้างว่ายังมีเรื่องอยู่ที่ศาล ซึ่งตนเองยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถทำได้ การไม่เปลี่ยนตัวรักษาการ และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เป็นรักษาการเลขาธิการกสทช.อยู่แบบนี้ ทำให้ไม่สามารถประเมินการทำงานได้ ซึ่งเป็นหน้าที่บอร์ดในการประเมิน และรักษาการก็สามารถอยู่ได้ตลอดไป หากรอศาลตัดสิน เพราะระยะเวลาในการตัดสินอาจใช้เวลานานหลายปีก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวถึง กรณีที่ได้ศึกษาเรื่อง “หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2533 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำเสนอรายงานการเลือกเลขาธิการ กสทช. เพื่อให้วุฒิสภา ดำเนินการพิจารณาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ว่า การตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาไม่ได้เป็นการตรวจสอบ และยืนยันไม่ได้ก้าวก่าย กสทช.โดยได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว พบว่า ตามมาตรา129 และ 185 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้กรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้
พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม สว. ในฐานะประธานอนุกรรมการในการศึกษาหลักเกณฑ์และกระบวนการการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการเลือกเลขาธิการ กสทช. ว่า เกิดจากการที่ตำแหน่งเลขาธิการกสทช. ว่างลงตั้งแต่ 1 ก.ค. 63 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าความล่าช้าเกิดจากอะไร แบ่งได้ 2 ความเห็น คือ ความเห็นที่1 กรรมการ กสทช. 3 เสียง เห็นว่า ประธาน กสทช. มีอำนาจการคัดเลือกแต่งตั้ง ส่วนความเห็นที่ 2 กรรมการ กสทช. 4 เสียง เห็นว่า กสทช.เป็นองค์กรกลุ่ม ดังนั้น การสรรหาการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมบอร์ด กสทช. ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยดำเนินการตั้งแต่สมัยคัดเลือกแต่งตั้ง พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้การเสนอชื่อเลขาธิการ กสทช.ล่าช้า กว่า 3 ปี
ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.นั้นสำคัญ แต่การที่กรรการ กสทช. ไม่รีบเร่งในการดำเนินการแต่งตั้งเลขาฯกสทช.ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะกสทช.ถือเป็นองค์กรดูแลคลื่นความถี่ ได้ผลประโยชน์มาจากการออกใบอนุญาต นับเป็นจำนวนเงินมหาศาล
เมื่อถามว่า กรณีนี้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ พลเอกสมเจตน์ กล่าวว่า เป็นความล่าช้า อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะ ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องแต่งตั้งเลขาธิการกสทช. ใน 90 วัน เห็นได้ว่ากฎหมายมีการให้ความสำคัญกับตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.
พลเอกสมเจตน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากความขัดแย้ง ความเห็นไม่ตรงกัน ยังมีเหตุการณ์แทรกซ่อน กรณีถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่มีการกล่าวหา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการกสทช. ทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีมติ เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เลขาคนใหม่มาทำหน้าที่สอบสวน แต่ประธาน กสทช. ไม่ลงนามจึงเป็นเหตุการณ์บานปลายสร้างความเสียหายให้ กสทช. จึงจะเสนอรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านนายประพันธ์ คูณมี รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า นับแต่ 1 ก.ค.2563 ที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออก และตั้งรักษาการมาจนปัจจุบัน เกือบ 4 ปี ดังนั้น นายไตรรัตน์ ทำหน้าที่รักษาการเกือบครบวาระแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ วุฒิสภาเห็นว่า จะเกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชน หลายโครงการเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งศึกษาพบสาเหตุความล่าช้า เพราะมีการตีความตามกฎหมายต่างกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าประธานออกประกาศ ของประธานเพื่อคัดเลือกเลขา กสทช.เอง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่เลขานุการของประธาน แต่เป็นเลขาองค์กร ต้องทำงานรับใช้องค์กร เมื่อประธานประกาศและคัดเลือกเองเฉพาะตัวประธานก็ใช้เวลา 1 ปี 9 เดือนกว่าจะมาเสนอกรรมาการในที่ประชุม แต่ไม่ได้ให้ความเห็นชอบเพราะกรรมการไม่กล้ารับรอง จึงเกิดความล่าช้า
นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนพฤติกรรมแบบนี้ส่อไปในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่นั้น ใน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดกรอบเวลาในการสรรหาเลขาต้องทำให้ได้ในกรอบ 90 วัน แต่ 3 ปีกว่าไม่สามารถตั้งได้ สะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำและคณะกรรมการองค์กรนั้น ดังนั้นในทางกฎหมายถือว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้เสียหาย ล่าช้าเกินสมควร
ส่วนจะเป็นการตอกย้ำว่า กสทช. เป็นเหมือนแดนสนธยาหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องตั้งเลขา กสทช.เป็นคนละกรณีและไม่เกี่ยวข้องกับกรณีฟ้องร้องคดีฟุตบอลโลก
นายประพันธ์ กล่าวว่า ข้อสรุปที่ได้ศึกษามา พบว่าอะไรส่อไปในทางมิชอบด้วยกฎหมายจะเสนอรายงานไปถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการป.ป.ช.และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ดำเนินการร้องศาลตามขั้นตอนต่อไปได้ รวมถึงไปยัง กสทช. ด้วย หากพบว่าใครทำผิดก็ขอให้ดำเนินการ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.