ทีวีดิจิทัล ตบเท้าพบประธานกสทช. ยัน คลื่น 3500 MHz ต้องใช้เพื่อกิจการทีวี

วันนี้ (26 มี.ค.2567) นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เข้าพบ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รวมทั้งกรรมการ กสทช.อีก 2 คน คือ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร โดยใช้เวลาประชุมราว 2 ชั่วโมงเริ่มประชุมเวลา 10.30 น. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ได้แสดงความกังวลว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz สำหรับกิจการโทรคมนาคมจะส่งผลให้ทีวีดิจิทัลไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก เนื่องจากในปัจจุบันทีวีดิจิทัลยังคงพึ่งพาดาวเทียม C-band ซึ่งอาศัยย่านความถี่ดังกล่าวในการแพร่ภาพ โดยดาวเทียม C-band ถือเป็นช่องทางหลักที่ทีวีดิจิทัลใช้ในการออกอากาศ

ขณะที่ช่องทางอื่น ๆ ในการออกอากาศทีวีดิจิทัล มีผู้รับชมลดลงอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการขยายตัวของการรับชม content ผ่านช่องทาง OTT และปัจจัยอื่น ๆ การคงคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ไว้ใช้สำหรับดาวเทียม C-band จึงเป็นวิถีทางอยู่รอดของผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลที่จะต้องประกอบธุรกิจต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าใบอนุญาตจะสิ้นอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า 

ปัจจุบันคนดูผ่านกล่องทีวีดิจิทัลมีเพียง 10% และ 60% ดูผ่านดาวเทียม หาก สำนักงาน กสทช.นำคลื่นความถี่ 3500 MHz คืน ผู้รับชมทีวีจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ ส่งผลให้ยอดคนดูและโฆษณาลดลง

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างศึกษาโอกาส และความเป็นไปได้ในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ซึ่งจะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า การกำหนดนโยบายจะพยายามฟังรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย อย่างไรก็ดี นอกจากธุรกิจทีวีดิจิทัลแล้ว ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังดู satellite TV และยังมีประเด็นเรื่องอัตลักษณ์แห่งชาติ (National Identity) และความสำคัญด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคุณูปการที่ทีวีดิจิทัลได้สร้างสรรค์แก่ประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย

สำหรับเรื่องนี้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา อาจนำมาใช้ได้ในหลายกรณี อาทิ Private 5G รวมถึงขยาย Bandwidth สำหรับการใช้งาน 5G ในประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ในการนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวมาใช้ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งหน่วยงาน GSMA ภูมิภาค Asia-Pacific (APAC) ก็เคยแสดงข้อกังวลในประเด็นนี้

นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาความต้องการของตลาด ความพร้อมของอุตสาหกรรมที่จะนำคลื่นย่านนี้มาใช้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้

ด้านนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM GRAMMY เปิดเผย ว่า ทางสมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน 2 เรื่องดังนี้

เรื่องแรก คือ สำนักงาน กสทช.ควรต่อสัญญาทีวีดิจิทัลทุกช่องเพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนด้านดิจิทัลมากมาย โดยธรรมชาติอุตสาหกรรมควรจะต้องเดินหน้าต่อ กลุ่มทีวีดิจิทัล ไม่ได้กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมเรายินดีแต่ต้องอยู่ในกติกาเดียวกันไม่มีข้อจำกัดๆ

เรื่องที่สอง คือ คลื่นความถี่ 3500 MHz สำนักงาน กสทช.ควรรักษาไว้ไม่ควรนำคลื่นความถี่ของทีวีดิจิทัล ออกมาประมูล ถ้าไม่มีคลื่นความถี่ 3500 MHz โทรทัศน์แห่งชาติล่มสลายทันที เพราะผู้ชมทีวีทั้งหมดอยู่ในแซทเทิลไลท์ทีวี หรือ ดาวทียม ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ต้องรักษาคลื่นความถี่ 3500 MHz เอาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้รับชมทีวีดิจิทัล

นายสุภาพ กล่าวว่า คลื่น 3500 MHz เป็นดังท่อออกซิเจนที่ทำให้ทีวีดิจิทัลอยู่รอดต่อไปได้ หากไม่มีคลื่นย่านนี้สำหรับ C-band ก็เหมือน กสทช. ถอดปลั๊กเครื่องช่วยหายใจของทีวีดิจิทัล

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.