เงินบาทวันนี้35.35-35.50แต่เปิดเช้าทรงตัวที่ระดับ35.40บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยทิศทางเงินบาทวันนี้ว่า 35.35-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ  และประเมินกรอบเงินบาท 35.25-35.65 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

ขณะที่ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.40 บาทต่อดอลลาร์ ที่ถือว่าทรงตัวแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.37-35.45 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง

อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็ระมัดระวังตัวมากขึ้นก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ (19.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย) อนึ่ง เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศ หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงระยะสั้น ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบใกล้ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าบางส่วน หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาพอสมควรในระยะสั้น นอกจากนี้ แรงขายหุ้นไทยก็อาจยังมีอยู่บ้าง ตามบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม

อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง เราคาดว่า ก่อนจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เงินบาทก็อาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล ยกเว้นว่า ในช่วงรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ราว 14.00 น. เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) จะผันผวนอ่อนค่าหนัก หากยอดการจ้างงานอังกฤษ หรือ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่

และที่สำคัญ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. เพราะหาก อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่คาดหวัง (ต้องจับตาทั้งข้อมูล %y/y และ %m/m หรือ โมเมนตัมการเปลี่ยนแปลงรายเดือน) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลต่อแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดได้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก กดดันทั้ง ราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร ซึ่งมีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 35.65 บาทต่อดอลลาร์

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรืออาจชะลอลงมากกว่าคาดเล็กน้อย เราคาดว่าก็อาจไม่ได้ช่วยให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงไปมากกว่าระดับปัจจุบันมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ราว 3-4 ครั้งไปมากแล้ว ทำให้เงินบาทก็อาจแข็งค่าติดอยู่ในโซนแนวรับแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Meta -4.4%, Nvidia -2.0% รวมถึงบรรดาหุ้นสไตล์ Growth อื่นๆ เพื่อเป็นการปรับลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.41% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.11% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลง -0.35% ตามแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ นำโดย ASML -4.2%, SAP -1.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare อาทิ AstraZeneca +2.5%, Roche +1.6%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ จะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ทว่าความกังวลดังกล่าวก็มาจากประเด็นอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับ 4.10% อีกครั้ง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ ที่อาจพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่ตลาดคาดหวัง หรือในกรณีเลวร้าย อัตราเงินเฟ้อ CPI กลับเร่งตัวขึ้น จน “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้คงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างระมัดระวังตัวและอาจปรับสถานะถือครอง อาทิ ทยอยลดสถานะ Long JPY หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้แข็งค่าขึ้นเร็วและแรงในช่วงก่อนหน้า ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในคืนวันอังคารนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.6-102.9 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ ผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 2,180-2,190 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นและลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจทรงตัวที่ระดับ 3.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ที่ไม่รวมผลของพลังงานและอาหารสด อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.7% เปิดโอกาสให้เฟดยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้บ้างในปีนี้ 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.