ผู้ลงทุนรายย่อยร้อง DSI เอาผิดกองทุนลงทุนหุ้น STARK ฐานยักยอกทรัพย์
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุนที่เสียหายจากการลงทุนในกองทุนแห่งหนึ่งที่ได้ลงทุนในหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้เข้าพบร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีกรม DSI ให้รับกรณีนี้เป็นคดีพิเศษ และให้ดำเนินคดีต่อกองทุน ผู้บริหาร ผู้จัดการกองทุนฐานกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 และกฎหมายอาญามาตรา343 ฐานฉ้อโกง และมาตรา 353 ฐานยักยอกทรัพย์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ทางด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรม DSI เปิดเผยหลังจากรับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายว่า DSI ไม่ได้นิ่งนอนใจในกรณี STARK ได้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ ดำเนินคดีอย่างจริงจังต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) เพิ่งแจ้งความดำเนินคดีและควบคุมตัว นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK ควบคุมตัวไว้ในเรือนจำระหว่างการพิจารณา
ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้เสียหายจากกองทุนมาร้องทุกข์ให้เป็นคดีพิเศษนั้น ในชั้นต้น DSI จะรับหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ และเริ่มตรวจสอบว่ากองทุนดังกล่าวมีพฤติการณ์ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับเงินทอน ซื้อขายหุ้นโดยทุจริตและทำให้ประชาชนผู้ถือหน่วยลงทุนเสียหาย เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากเข้าข่ายก็พร้อมรับเป็นคดีพิเศษต่อไป
ส่วนการที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกร้องเรียนว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วยนั้น และกลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาแล้วนั้น ทาง DSI ก็คงจะได้ประสานงานกับทาง ก.ล.ต. ต่อไป เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยตรง แต่ DSI ก็พร้อมอำนวยความยุติธรรมในกรณีที่ ก.ล.ต. จะประสานงานมาในความผิดเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์
นายสิทธา (ขอสงวนนามสกุล) หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายยื่นหนังสือร้องทุกข์ ต่อกับอธิบดี DSI ระบุรายละเอียดในหนังสือว่า กลุ่มผู้เสียหายหลายหมื่นคนที่ลงทุนผ่านกองทุนประหยัดภาษี (LTF) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมแห่งหนึ่ง เพราะเชื่อมั่นว่ามีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของประเทศเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อหวังจะนำไปใช้ประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษี และออมลงทุนไว้เป็นเงินใช้จ่ายยามเกษียณต้องมาเสียหายอย่างหนักจากการกระทำผิดกฎหมายของผู้ถูกกล่าวหา โดยได้เคยรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566
“เวลาผ่านมาครึ่งปี เรื่องเงียบหาย แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ของกองทุนคู่กรณีติดต่อเกลี้ยกล่อมมาทางโทรศัพท์แทน เมื่อหมดที่พึ่งจึงมาร้องทุกข์ต่ออธิบดี DSI เพราะเห็นว่ามีผลงานดำเนินคดีกรณี STARK ไม่ไว้หน้าใคร ล่าสุดออกหมายจับดำเนินคดี นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK ส่งตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมบ้าง จึงมาร้องทุกข์ต่ออธิบดี DSI” นายสิทธา กล่าว
ตัวแทนผู้เสียหายบรรยายในหนังสือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีว่า ข้าพเจ้าและคณะ รวมทั้งประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ขอให้ DSI รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ เพราะมีความเสียหายวงกว้างต่อประชาชนนับหมื่น ความเสียหายนับหมื่นล้านบาท และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง และขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมดังกล่าว (ขอสงวนชื่อในเอกสารแถลงข่าว) ในฐานความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1
เนื่องจากผู้กระทำความผิด ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และกระทำการโดยทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนั้นเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายอาญามาตรา 341 ผู้โดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 343 กระทำผิดด้วยการแสดงข้อความอั้นเป็นเท็จต่อประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กับขอให้ DSI เป็นตัวแทนข้าพเจ้าและประชาชนผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อในกรณีเดียวกัน หรือทำนองเดียวกันดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดให้เยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งอีกด้วย
ทั้งนี้ ข้าพเจ้า และประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ ประสบผลขาดทุนในการลงทุนเฉพาะปี 2566 ที่เกิดเหตุลบ 21.93% ซึ่งข้าพเจ้า และประชาชน ต่างเข้าใจข้อจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนผ่านกองทุนรวมดีว่า การลงทุนย่อมมีทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ความเสียหายดังกล่าวในกรณีนี้ ไม่ได้เป็นไปตามสภาพการลงทุนตามปกติวิสัย แต่มาจากการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจลงทุนหน่วยลงทุน LTF ผ่านกองทุนดังกล่าว เพื่อวัตถุประสงค์ในการประหยัดภาษี และเก็บออมสำหรับวัยเกษียณอายุ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า บลจ.นี้ มีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีฐานะมั่นคงแข็งแกร่ง แต่การณ์กลับปรากฎว่าผลงานการลงทุนต่ำกว่ากองทุนประเภทเดียวกันอย่างชัดเจน
กองทุนนี้มีผลดำเนินงานงวดรอบ 1 ปี ลบ 21.93% (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มกองทุนประเภทเดียวกัน ลบเพียง 0.49% เนื่องจากกองทุนนี้ไปลงทุนในหุ้น STARK ไว้มาก และกระทำผิดกฎหมาย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และผิดกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงและยักยิกทรัพย์
2.ผู้กระทำความผิดยังบังอาจกระทำผิดกฎหมายอาญา โดยได้มีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อข้าพเจ้า และผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย โดยจะเห็นได้จากกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้น STARK เอาไว้มากถึง 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ต.ค.2565 โดยมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 3.72 บาท ไปถึง 5 บาท
ต่อมาเมื่อเกิดปัญหา STARK ยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัท LEONI ประเทศเยอรมนี ในเดือน ธ.ค.2565 แล้ว กองทุนอื่นๆ ต่างพากันเทขายหุ้น STARK ออกเพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก กระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พักการซื้อขาย 4 เดือน มาเปิดให้ซื้อขาย 1 เดือนสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.2566 ทางผู้กระทำผิดก็ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียงเล็กน้อย
แต่ต่อมาผู้กระทำผิดได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในวันที่ 23 และ 27 มิ.ย. 2566 ว่า ยังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ตลาดฯ ให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2566 ซึ่งช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคา 1 ถึง 4 สตางค์ ก็จึงน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท ประมาณการว่าคงจะขาดทุนสุทธิมากกว่า 3,500 ล้านบาท
3.ผู้กระทำผิด ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เห็นได้จากแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มิ.ย.2566 ว่า “บริษัทได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงาน Phelps Dodge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดําเนินกิจการ โดยประเมินเบื้องต้นว่าบริษัทยังคงสามารถดําเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และรอการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชีในวันที่ 16 มิ.ย.2566 เพื่อใช้ประเมินการลงทุนในหุ้น STARK ต่อไป”
ซึ่งในความเป็นจริงปรากฏว่าผู้กระทำผิด ขาดความระมัดระวังในการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะขณะที่ บลจ. อื่นๆ แจ้งว่าได้ขายหุ้น STARK ออกไปหมดแล้ว แต่ผู้กระทำผิดยังคงถือครองหุ้นไว้จำนวนมากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จตามข้อ2 และยังขาดความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะยังเห็นว่ากิจการ STARK ยังจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และยังถือครองหุ้นไว้จำนวนมาก จนท้ายที่สุดต้องขายออกไปในราคาที่แทบจะสิ้นมูลค่าแล้ว อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ
4.ผู้กระทำผิดยังมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าอาจจะมีการทุจริต โดยทำการซื้อขายหุ้นที่ไม่โปร่งใส ผิดจากวิสัยของการบริหารกองทุนโดยทั่วไป โดยทำการไล่ซื้อราคา STARK ในราคาสูง ปริมาณมาก กระจุกตัว และยังซื้อกระจุกตัวในหุ้นเครือ STARK อีกหลายตัว ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือเดียวกับ STARK เช่น TOA และ DPAINT เป็นต้น ซึ่งผิดจากปกติวิสัยของการลงทุน
5.นอกจากนั้นยังพบด้วยว่าผู้กระทำผิดได้มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตและมีความขัดแย้งทางผลประโยนชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหลายกรณี เช่น การเข้าไปลงทุนหุ้น SKY แบบซื้อบิ๊กล็อตราคา 30.25 บาท ตอนที่มีการไล่ราคาหุ้นขึ้นไปเพียงแค่ 2เดือน ทั้งที่ราคาทรงๆ ตัวอยู่เขต 10 บาท นานเป็นปี แต่ไม่ยอมลงทุนซื้อตอนราคาหุ้นถูกๆ หรือซื้อบิ๊กล็อตหุ้น ADD ตอนมีการไล่ราคาขึ้นไป 30 บาท แล้วมาตัดขายขาดทุนที่ 10 บาท หรือพฤติกรรมไล่ราคาซื้อหุ้น SAMART และ SAMTEL ในราคา 30-45บาท เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปทางลบอย่างมีนัยยสำคัญ ก็ไม่ปรับพอร์ตใดๆ เพิ่งจะมาขายตัดขาดทุนแถวราคา 3-5บาท ในต้นปีนี้ ทั้งที่กิจการกำลังฟื้นตัว
อันเป็นพฤติการณ์กระทำผิด กฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา124/1 และกฎหมายอาญามาตรา 343 และมาตรา 353 ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และกระทำการโดยทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ และอาจกระทำผิดต่อมาตราอื่นๆ ของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
ข้าพเจ้าและประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ เคยเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 ได้โปรดอำนวยความยุติธรรมในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองผู้ลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และกอบกู้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาสู่ตลาดทุนโดยไว ด้วยการดำเนินการสืบสวนสอบสวน และเป็นตัวแทนของข้าพเจ้าและประชาชนผู้ถือหน่วยลงทุนท่านอื่นๆ ที่เป็นเหยื่อประสบความเสียหายในกรณีทำนองเดียวกัน แต่เวลาผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่เคยสอบถามข้อมูลใดๆ จากข้าพเจ้าและผู้สียหายเพิ่มเติม ข้าพเจ้าและประชาชนผู้เสียหายจึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม จึงหวังให้ DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษ แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.