สัปดาห์หน้าหุ้นไทยติด1,415จุดลุ้นผลงานบจ.ไทยQ4/66มองเงินบาท35.70-36.20
ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าที่ระดับ 35.70-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,380 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่งที่ 35.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่เงินบาทสามารถฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงต่อมาตามเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ รับสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพตลาดหุ้นของทางการจีน ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินบาทเพื่อปรับโพสิชั่นก่อนการประชุม กนง. กลางสัปดาห์
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังผลการประชุมกนง. ซึ่งมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% และได้ปรับลดตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมา
นอกจากนี้เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินเยน หลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะ แม้อาจจะมีการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในระยะข้างหน้า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นรับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่สะท้อนว่า จังหวะการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจไม่เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากเฟดต้องการมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
ในวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ก.พ. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 5-9 ก.พ. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,028 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,917 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 9,917 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2,000 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าที่ระดับ 35.70-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าเฟด
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตและตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนม.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.พ. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซน และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของอังกฤษด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,400 จุดได้ช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ ก่อนจะย่อตัวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์
หุ้นไทยทยอยขยับขึ้นในช่วงก่อนการประชุม กนง. โดยมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีกที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และกลุ่มพลังงานที่มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก หุ้นไทยขยับขึ้นต่อเนื่องมายืนเหนือระดับ 1,400 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ หลังกนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย และปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น
อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยมีการขายทำกำไรหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม อนึ่ง ปริมาณการซื้อ-ขายของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเบาบางในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับการปิดทำการของตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาคในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ในวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,388.37 จุด เพิ่มขึ้น 0.31% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,972.37 ล้านบาท ลดลง 3.77% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.78% มาปิดที่ระดับ 416.29 จุด
สัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,380 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนม.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2566 ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและอังกฤษ ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และอังกฤษ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.