SETพลิกบวกหุ้นไทยสัปดาห์หน้าชนเพดาน1,415จุดลุ้นดอกเบี้ยกนง.ต่อ
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ รับสัญญาณจากผลการประชุมเฟด
เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคและการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงในช่วงก่อนการประชุมเฟด เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นรับสัญญาณจากประธานเฟดที่สะท้อนว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมี.ค. ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกแข็งค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.00%) ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจมีโอกาสความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรอบการประชุมหลังจากเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากข้อมูล ISM ภาคการผลิตในเดือนม.ค. ซึ่งสะท้อนการหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตสหรัฐฯ แม้ค่าดัชนีฯ จะดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดก็ตาม
ในวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ม.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-2 ก.พ. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,980 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 7,410 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 7,400 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 10 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (5-9 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าที่ระดับ 34.80-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย (5 ก.พ.) ผลการประชุมกนง. (7 ก.พ.) และกระแสเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการเดือนม.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย สถานการณ์เงินเฟ้อของจีนที่สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยพลิกกลับมาปิดบวก หลังแกว่งตัวผันผวนช่วงต้นสัปดาห์
ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ขานรับปัจจัยบวกจากข่าวการลงนามข้อตกลงฟรีวีซ่าไทย-จีนเป็นการถาวร ก่อนจะย่อตัวลงในช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงขายของนักลงทุนก่อนการประชุมเฟด รวมถึงมีปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติม เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่รายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนภาวะการหดตัวของภาคการผลิต) ความกังวลต่อประเด็นทางการเมืองในประเทศ และรายงานข่าวเกี่ยวกับการเตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยของ ธปท.
อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ตามคาด ประกอบกับมีแรงหนุนจากสัญญาณบวกของทิศทางหุ้นต่างประเทศ และแรงซื้อคืนหุ้นไทย โดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์ เทคโนโลยี และพลังงาน
ในวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,384.08 จุด เพิ่มขึ้น 1.16% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,617.53 ล้านบาท ลดลง 10.41% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.05% มาปิดที่ระดับ 409.01 จุด
สัปดาห์ถัดไป (5-9 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้ามีแนวรับที่ 1,375 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (7 ก.พ.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย ส่วน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการนำเข้าและส่งออกเดือนธ.ค. ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการเดือนม.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนม.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโซนและอังกฤษ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของจีน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.