จับตา “เอเชีย เอรา วัน” ยื่นอุทธรณ์ขยายเวลาลงทุน เดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)  เปิดเผยว่า กรณีที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด  บริษัทในเครือซีพี ซึ่งได้รับสัมปทานการลงทุนและเดินรถไฟความเร็วสูงในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แต่ไม่ได้รับการต่ออายุ บัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากหมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2567 นั้น เอกชนสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อบีโอไอในการขยายระยะเวลาได้ซึ่งได้แนะนำให้เอกชนยื่นไปที่บีโอไอตามขั้นตอนแล้ว ส่วนการดำเนินการแก้ไขสัญญาของโครงการนั้นอยู่ในระหว่างการหารือกับภาคเอกชนและดำเนินการอยู่ 

นายจุฬา กล่าวว่า เนื่องจากอำนาจการพิจารณายกเลิกสัญญาไม่ได้เป็นของอีอีซี แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญา ซึ่งอยู่ภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาว่าจะมีมติให้ ซี.พี.ดำเนินการอย่างไรในฐานะคู่สัญญา

หลังจากนั้นหากคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาพิจารณาแล้วเสร็จ จึงจะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งอีอีซีในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ผลักดันการพัฒนาโครงการนี้ มีจุดยืนอยากให้กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นเอกชนที่ชนะการประกวดราคาเดินหน้าลงทุนโครงการ ซึ่งหากมติของคณะกรรมการกำกับดูแล และบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นว่าต้องเดินหน้าลงทุน แม้จะไม่มีบัตรส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ได้

ดังนั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับสัญญา และการรถไฟฯ ว่าจะหารือกับทางเอกชนอย่างไร ในเมื่อขณะนี้เอกชนไม่ได้รับบัตรส่งเสริม บีโอไอ หากจะเดินหน้าออกหนังสือเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มงานก่อสร้างก็ทำได้ แต่ต้องแก้ไขรายละเอียดสัญญาเพื่อกำหนดให้การรถไฟฯ ออกหนังสือ NTP โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริม บีโอไอ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของผู้สื่อข่าว พบว่า ที่ผ่านมาการขอขยายบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอดำเนินการได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 4 เดือน โดยบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้ยื่นขอขยายบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 เดือน  และครั้งสุดท้ายนี้ได้ขอยื่นต่ออายุไปอีก 4 เดือน คือหมดอายุในวันที่ 22 พ.ค.2567 ซึ่งบีโอไอไม่อนุมัติต่อใบอนุญาตการส่งเสริมการลงทุนให้แล้วเนื่องจากมีการต่ออายุมาแล้ว 2 ครั้ง  

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอีอีซี ระบุว่าตนได้รับทราบปัญหาเรื่องนี้แล้วแต่รอการรายงานรายละเอียดจากคณะกรรมการ โดยได้ให้แนวนโยบายกับเลขาธิการอีอีซีแล้วว่าให้ดูในกรอบเรื่องของกฎหมายให้รอบคอบ หากสามารถดำเนินการได้และทำให้โครงการเดินไปข้างหน้าได้ก็ขอให้เร่งดำเนินการ เพราะโครงการไฮสปีดเทรนนั้นถือเป็นโครงการสำคัญของอีอีซีที่มองว่ามีความจำเป็นที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของโครงการ

ส่วนประเด็นที่บีโอไอจะต่อสิทธิ์ประโยชน์ให้กับเอกชนที่ได้รับสัมปทานหรือไม่นั้นก็ต้องดูเงื่อนไข และข้อกฎหมายแต่ก็มองว่าเรื่องนี้ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เอกชนจะตัดสินใจว่าลงทุนในโครงการนี้หรือไม่ เราอยากเห็นโครงการเดินไปข้างหน้ามากกว่าหยุดอยู่กับที่

ขณะที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า กรณี BOI ไม่ได้ต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หลังจากหมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2567 เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้ลงทุนจริงโดยให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญากับภาครัฐบาลซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่อยู่ในระเบียบของบีโอไอ ซึ่งหลังจากการแก้สัญญากับภาครัฐเรียบร้อยแล้วและทางบริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอีกครั้ง ทาง บีโอไอ ก็จะพิจารณาให้โดยด่วน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.