หวั่น"จีน-สหรัฐฯ"กลับมาเดือดดันน้ำมันพีค แนะไทยอัพสกิลรับฐานใหญ่เข้า
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน GEOPOLITICS 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย เสวนาหัวข้อ "ส่องเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกวิกฤติ" ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจหากมองเฉพาะปี 2567นี้ มองว่าความเสี่ยงอยู่ในแถบประเทศตะวันตก หลายคนอาจจะมองว่าเศรษฐกิจยังดี ซึ่งมองเหนือผิวน้ำ แต่ถ้าเจาะลงไปใต้น้ำ จะเห็นว่าแต่ละประเทศมีปัญหาสะสม อย่าง จีน เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกกระทบการเงินภาครัฐบาลท้องถิ่น ขณะที่ฝั่งยุโรปตัดตัวเองออกจากพลังงานโลกทำให้เกิดการขนส่งอ้อมโลก ทำต้นทุนเพิ่มขึ้น มีปัญหาเฉพาะตัว
แต่ตัวที่น่าสนใจมากคือ "สหรัฐฯ" หลายคนจะมองว่าที่ผ่านมาตัวเลข GDP ค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะรัฐบาลใช้เงินค่อนข้างเยอะ แต่ถ้ามองลึกเข้าไปจะเห็นที่ผ่านมาสภาพคล่องมีการขับเคลื่อนโดยทางกระทรวงการคลังมีการออกพันธบัตรที่จะกู้ แทนที่จะออกพันธบัตรระยะยาวปกติ ไปออกตั๋วเงินคลังมากเกินกว่าที่เคยมีในอดีต ทำให้กองทุนรวมตลาดเงิน(Money Market Fund) เป็นแหล่งในการเอาเงินไปลงทุน ทำให้ลดเงินลงทุน ทำให้ตัว Reverse Repo ลดลงไปเรื่อยๆ ดูแนวโน้มคิดว่าอาจจะลงต่ำสุดในเดือน มี.ค.67 หลังจากนั้นจะเกิดปัญหาใหญ่เพราะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะต้องออกพันธบัตรระยะยาวกลับไปเป็นปกติ
"หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ผมว่าจะเกิดการกระเพื่อมจากใต้น้ำโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ หลังจากนั้นผมค่อนข้างกังวลความขัดแย้งในตะวันออกกลางเพราะมีขบวนการดึงเอาสหรัฐฯและอิหร่านเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งมากขึ้น ผมคิดว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทุที่จะกระทบกับราคาน้ำมัน สมมุติมองเลือกตั้งสหรัฐฯช่วงสิ้นปีนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้น แล้วมีผลต่อราคาน้ำมัน พรรคเดโมแครตมีโอกาสชนะยาก"
ถามว่า ทำไมกังวลเรื่องราคาน้ำมัน ?
สาเหตุที่กังวลเพราะเวลานี้ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ลดลงเพราะราคาพลังงานลดลง ส่วนหนึ่งที่ลดเพราะไบเดนควักน้ำมันสำรองฉุกเฉินมาทุ่มตลาด แล้วถ้าเกิดรีเวิร์สขึ้นมา ความฝันที่ว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าที่ ต่อให้ตอนนี้มีปัญหาทะเลแดง ตอนนี้อาจจะไม่มากแต่ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น บริษัทในสหรัฐฯและยุโรปที่เวลาเงินไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ถ้ายังคงยืนระดับสูงเมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีบริษัทที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้นั่นจึงเป็นความเสี่ยง
ทั้งนี้หากมองไปข้างหน้าเรื่องความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกอีก 10 ปีคืออะไรนั้น มองว่าคือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่หนีไม่พ้น เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสหรัฐฯถือว่าผงาดมายาวนาน แต่ขณะนี้เจอคู่แข่งที่น่ากลัว เชื่อหรือไม่ว่าเวลานี้ GDP จีนหายใจรดต้นคอสหรัฐฯ ซึ่งจีนสามารถแข่งขันได้ทั้งในฝั่งรถไฟฟ้า , เอไอ และอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นขบวนการต่อสู้กันจะเกิดไปอีกนาน ทำให้การแยกกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน และบีบให้ไทยต้องเลือกข้างนั้นยิ่งเข้มข้นขึ้น
ไทยรับมือความขัดแย้งอย่างไร ?
ขณะนี้ระหว่าง 2 พรรคในอเมริกามีเรื่องเดียวที่เห็นพ้องต้องกันคือ "ทุบจีน" ไม่ว่าทรัมป์จะกลับมาหรือไม่ ก็จะเกิดการแยกทาง ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ในส่วนของประเทศไทยจะมีบริษัทย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือจะเป็นสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งไทยมีการพัฒนาและเตรียมพร้อมเพิ่มสกิลมากน้อยแค่ไหน รวมถึงแนวโน้มการค้าที่จะเข้ามาในไทยจะเป็นการค้าระดับภูมิภาคยาวไป 50 ปีที่จะเพิ่มขึ้น ด้วยพลังซื้อของคนที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะประเทศอินเดีย มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน ในอนาคตจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง แต่ไม่เคยข้ามหิมาลัยมาได้ ดังนั้นถ้าไทยสามารถเอาแลนด์บริดจ์เป็นตัวรับขนส่งที่จะมาจากหลายทาง ทั้ง แอฟริกา, อเมริกาใต้ เป็นต้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นในอนาคตต้องเน้นการค้า Global South และ Regional
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.