KBANK กางเป้าปี 67 ดันสินเชื่อโต 3-5% รักษา NIM ที่ 3.66% คุม NPL ไม่เกิน 3.25%
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 มีมติอนุมัติเป้าหมายทางการเงินสำหรับปี 2567
โดยตั้งเป้าหมายสินเชื่อ (Loan Growth) จะเติบโต 3-5% จากปีก่อน ลดลง 0.19% รักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไว้ที่ 3.66% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) เติบโตตัวเลขหลักเดียวในระดับกลางถึงสูง (Mid to High-Single Digit) จากปีก่อน ลดลง 5.17% และเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio Gross) ต่ำกว่า 3.25% จากปีก่อน อยู่ที่ 3.19%
ทั้งนี้ เป้าหมายทางการเงินและนโยบายการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวข้างต้น เป็นการคาดการณ์ของธนาคารในเบื้องตัน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ ธนาคารได้เผยแพร่เป้าหมายทางการเงิน และปรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลพร้อมรายละเอียดต่อสาธารณะ ผ่านเว็บไซต๊ของธนาคารที่ www.kasikombank.com ภายใต้หมวดนักลงทุนสัมพันธ์ หัวข้อข้อมูลนำเสนอและวารสาร ตั้งแต่วันนี้ (26 ม.ค.) เป็นต้นไป
สำหรับปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในบางส่วน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการพิจารณาตั้งสำรองฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 19,396 ล้านบาท หรือ 11.19% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 148,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.61% ตามสภาวะตลาด ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังไม่ได้หักต้นทุนการบริหารจัดการหนี้ในเรื่องต่างๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อเทียบกับฐานของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ มีอัตราผลตอบแทน (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ 3.66%
นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 3,950 ล้านบาท หรือ 9.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ สอดคล้องกับการฟื้นตัวบางส่วนของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 1,702 ล้านบาท หรือ 5.17% หลักๆ จากค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2566 มีจำนวน 51,840 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นการตั้งในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และเพื่อดูแล ช่วยเหลือเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้า เพิ่มความความยืดหยุ่นในการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 152.23%
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 10,215 ล้านบาท หรือ 13.67% หลักๆ จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ตามปริมาณธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการให้บริการลูกค้า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การให้บริการ และรองรับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูลลูกค้า นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงต้นปี โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 44.10% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 43.15%
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,283,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,187 ล้านบาท หรือ 0.88% จากสิ้นปี 2565 หลักๆ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ซึ่งเป็นการบริหารสภาพคล่องตามปกติของธนาคาร รวมถึงสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ตามสภาวะตลาดภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ
ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงเล็กน้อย จากการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในปี 2566 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนี้ การรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับได้พิจารณาจากจำนวนที่คาดว่าจะได้รับจริง ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.41% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.44%
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.