สศค.ยันเศรษฐไทยปี66 โตแผ่ว 1.8% จริง ปัดไม่รู้เอกสารคลังหลุดได้อย่างไร
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.8% ต่อปีจริง ตามที่เอกสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว โดยเป็นความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 2.6% ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% หากจะให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้มากกว่า 2% ในไตรมาส 4/2566 จะต้องขยายตัวได้ราว 4-5% แต่ไม่มีสัญญาณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ 1.4% ต่อเท่านั้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่คลังพิจารณาด้วยความรอบคอบ ถี่ถ้วน คิดมาอย่างดีแล้ว โดยเศรษฐกิจอยู่ในศักยภาพที่ดี โดยการประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
ต่อประเด็นคำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7% ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤตแล้วหรือไม่ คำถามนี้อยากให้นักวิชาการเป็นคนตอบ เพราะคำว่าวิกฤตไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ก็มีมุมมองว่าถ้าเศรษฐกิจหดตัว ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณชี้วัดที่ส่งสัญญาณอ่อนตัวและติดลบหลายด้าน มีการเปราะบางในบางจุด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด หากดูแลไม่ดีก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ถึงในทางทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
“เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชี้วัดอ่อนตัว เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งต้องหามาตรการดูแล โดยไตรมาส 4/2566 ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตทะลุ 4-5% แต่เราเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีมากกว่า เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย. ดัชนีหดตัวที่ -4/7% ต่อปี เป็นการติดลบติดต่อกันเดือนที่ 14 และอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23, คอมพิวเตอร์ หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ยางพาราและพลาสติกหดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 9 เป็นต้น โดย สศค. นำข้อมูลดังกล่าวมาสอบยันทุกทางแล้วก่อน” นายพรชัย กล่าว
ทั้งนี้ คำศัพท์คำว่าวิกฤตเป็นคำวิเศษณ์ จะต้องอยู่กับคำนามที่ประกอบกัน เช่น ช่วงเวลาวิกฤต อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีหน่วยงานอย่างองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รับรอง หรือ เหตุการณ์วิกฤต เช่น มีปัญหาทางการเงินของครัวเรือนสูง มีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย ก็เป็นวิกฤตที่ต้องมารับฟังข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ หรือไม่
ส่วนกรณีที่โฆษกรัฐบาล เผยแพร่เอกสารประทับตราลับของกระทรวงการคลังล่วงหน้า ก่อนแถลงข่าวจริงในวันนี้ 24 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ว่า ตัวเลขประมาณการจีดีพี สศค.ได้ทำออกมาหลายเวอร์ชั่น และจีดีพีที่ออกมา ที่ 1.8% ก็เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ซึ่งหลังทราบเรื่องเอกสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาก็ตกใจ และได้รายงานข้อเท็จจริงทางวาจาให้ปลัดกระทรวงการคลังให้รับทราบตามระเบียบไปแล้ว โดยปลัดได้สั่งการให้ทำรายงานข้อเท็จจริง ซึ่งยังต้องใช้เวลาสักระยะ โดยไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบในเรื่องนี้แต่อย่างใด
“ไม่รู้จริงๆว่าเอกสารหลุดไปทางไหนเลย โดยในส่วนการทำงานของ สศค. นั้น ยืนยันว่าเรายังทำงานด้วยการยึดหลักวิชาการ ตัวเลขที่ชี้แจงมามีเหตุและผล ดำเนินการด้วยความรอบคอบ การทำงานของเราต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้วยความชัดเจน โดยอยากให้มั่นใจว่าสศค.ยังเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ที่วงการวิชาการและราชการให้การยอมรับ” นายพรชัย กล่าว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.