คาดเงินบาทวันนี้34.45-34.65เปิดเช้าอ่อนลงอยู่ที่34.57บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยทิศทางค่าเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.65 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯและประเมินกรอบ 34.35-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ค่าเงินบาทเปิดเช้าที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ ได้อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.43-34.58 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ออกมาดีกว่าคาด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดบ้าง ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับใหม่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าไปไกลจากแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปมากนัก ตามที่เราประเมินไว้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ ปรับสถานะ Long THB (มองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.60 บาทต่อดอลลาร์ (โซนแนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.80 บาทต่อดอลลาร์) หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยลงของเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวจะทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ กดดันทั้ง ราคาทองคำและค่าเงินบาท
ทั้งนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน หรือ ไม่ได้ดีกว่าคาด ไปทั้งหมด เช่น ยอดการจ้างงานชะลอลงกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง แต่มองว่า ก็อาจไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปมาก โดยเงินบาทอาจเพียงทยอยกลับมาแข็งค่าสู่โซนแนวรับแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ และอาจเป็นเรื่องยากในช่วงนี้ ที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าหลุดโซน 34 บาทต่อดอลลาร์ หากไม่มีปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน อาทิ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในช่วงนี้ก็อาจยังมีความผันผวนไปตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เพิ่มเติม อาทิ Amazon -2.6%, Apple -1.3% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.00% อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลของบรรดาผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.34%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.69% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare และกลุ่ม Utilities อาทิ Novo Nordisk +3.6%, Enel +1.5% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการทยอยปรับพอร์ตของบรรดานักลงทุน เพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลง
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมีนาคม ราว 66% ซึ่งลดลงพอสมควร จากที่ตลาดเคยให้โอกาสถึง 87% ในเดือนก่อนหน้า โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.00% อีกครั้ง
ดังนั้นจึงยังคงแนะนำว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่ระดับ 102.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.1-102.5 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทยอยปรับตัวลดลง สู่ระดับ 2,040-2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับใหม่ในช่วงนี้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls), อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings %y/y) รวมถึง รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการโดย ISM (Services PMI) เดือนธันวาคม โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนธันวาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.40% ตามคาด หรือ ต่ำกว่า ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีนี้
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ในเดือนธันวาคม ซึ่งเราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI มีโอกาส ติดลบ ต่อเนื่อง ราว -0.5% จากฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีก่อนหน้า มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจยังอยู่ที่ระดับ 0.60%
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.