คลัง เด้งรับออกมาตรการแก้หนี้ในระบบ เตรียมชงครม.ตัดหนี้เสีย 7 พันล้าน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของรัฐบาล โดยในส่วนที่เป็นหนี้เสียก็จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทั้งหมด 4 กลุ่ม ส่วนลูกหนี้ดีรัฐบาลจะมีการออกมาตรการจูงใจเพื่อรักษาวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสินได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตราการจูงใจเรียบร้อยแล้ว
สำหรับมาตรการจูงใจลูกหนี้ดีนั้น หลักการเบื้องต้นอาจจะให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย และตัดเงินต้นเพิ่ม เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจและช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ผ่อนเดือนละ 10 บาท เคยตัดเงินต้น 8 บาท ตัดดอกเบี้ย 2 บาท ก็จะมีมาตรการจูงใจโดยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1 บาท และตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น ตรงนี้ภาระของลูกหนี้ก็จะลดลงไป และสามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้นด้วย
“ตอนนี้หนี้ครัวเรือนรวมทั้งระบบ มีมูลหนี้ราว 16 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้เสีย หนี้จ่อตกชั้น และหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ ประมาณ 10% หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ประมาณ 1 ล้านกว่าราย ซึ่งเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาจะบริหารจัดการได้”นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับลูกหนี้รหัส 21 จากสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 1 หมื่นบาท ที่ปล่อยกู้ช่วงโควิด-19 โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาทนั้น ได้มีการกันสำรองหนี้เสียไว้ก่อนแล้วประมาณ 50% วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มาตรการจบเรียบร้อยแล้ว พบว่า เป็นหนี้เสียราว 30% หรือประมาณ 7 พันล้านบาท ก็จะตัดหนี้ให้เลย และนำเงินที่กันสำรองดังกล่าวมาชดเชยให้ธนาคาร ลูกหนี้รหัส 21 ในกลุ่มนี้ก็จบ หลุดจากการเครดิตบูโร และสามารถไปกู้ใหม่ได้ ส่วนกระบวนการกู้ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร
ขณะที่หนี้กลุ่มเอสเอ็มอีตัวเลขไม่เยอะ มีประมาณ 1 แสนกว่าราย ในส่วนนี้ก็จะเข้ามาตรการพักหนี้กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC)ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และ AMC ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
“จะมีการตั้ง AMC ขึ้นมาดู แต่เบื้องต้นหากธนาคารสามารถช่วยลูกหนี้ของตัวเองก่อนได้ก็อยากให้ช่วย แต่ถ้าไม่ได้ก็ส่งมาที่ AMC ซึ่ง AMC ก็จะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปานกว่าในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เอสเอ็มอียังเดินหน้าไปต่อได้” นายกฤษฎา กล่าว
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากมีการกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของรัฐบาลแล้ว ก็จะมีการรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้จะครอบคลุมและเพียงพอในการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มที่มีปัญหาได้
อย่างไรก็ดี ในส่วนของหนี้สหกรณ์นั้น หลักการเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการกับสหกรณ์ที่ทำหน้าที่คล้ายสถาบันการเงิน อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนก่อน โดยธนาคารออมสินจะมีปล่อยสินเชื่อให้กับสกหรณ์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ต่อให้กับสมาชิกในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง หรือให้ลูกหนี้ของธนาคารออมสินที่คิดว่าปัจจุบันดอกเบี้ยแพงสามารถรีไฟแนนซ์ไปอยู่กับสหกรณ์ให้ดูแลต่อได้ โดยมีเงื่อนไข ว่า สหกรณ์ที่จะได้รับสินเชื่อจากธนาคารออมสิน จะต้องเข้าเครดิตบูโรด้วย
“สหกรณ์จะต้องปรับตัว โดยการเข้าเครดิตบูโรก่อน เพราะวันนี้เราเห็นหนี้ในสถาบันการเงินทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่เห็นหนี้ของกลุ่มสหกรณ์ ดังนั้นจะต้องมีกระบวนการเพื่อให้เห็นหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดก่อนว่าอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อให้แก้ได้ง่าย และเจ้าหนี้สหกรณ์จะได้ระมัดระวังได้มากขึ้น กรณีที่สหกรณ์บางแห่งมีการกู้จนเต็มเพดานแล้ว ซึ่งสหกรณ์ก็จะต้องยอมรับความจริง เพื่อให้สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไปได้” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.